มะอึก สรรพคุณและประโยชน์ของมะอึก 19 ข้อ !

มะอึก

มะอึก ชื่อสามัญ Solanum, Bolo Maka

มะอึก ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacq. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

สมุนไพรมะอึก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

มะอึก เป็นพืชสวนครัวที่นิยมรับประทานและมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าสักเท่าไหร่ จึงไม่พบเห็นได้บ่อยเท่ามะแว้งและมะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่ามะอึกเป็นมะเขือป่าที่เป็นลูกครึ่งอยู่ระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งนั่นเอง

โดยเราจะนิยมใช้ผลแก่หรือผลสุกเต็มที่รับประทานเป็นผักแกล้มหรือจิ้มกับน้ำพริกต่าง ๆ ให้รสชาติเฝื่อนเล็กน้อยอร่อยมาก หรือจะใช้เปลือกผลเอาเมล็ดทิ้งแล้วหั่นเป็นฝอย ๆ ใช้โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิเพื่อเพิ่มรสชาติก็ดีไม่น้อย หรือจะหั่นเป็นชิ้นทั้งเมล็ดใส่รวมกับส้มตำก็ได้เหมือนกัน

ลักษณะของมะอึก

  • ต้นมะอึก สันนิษฐานว่าน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงราว 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นและใบจะคล้ายคลึงกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรค แมลง และดินฟ้าอากาศ

ต้นมะอึก

  • ใบมะอึก มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู มีความกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่าง

ใบมะอึก

  • ดอกมะอึก ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกมีสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลือง เป็นเส้นรวมเป็นยอดแหลม

ดอกมะอึก

  • ผลมะอึก (ลูกมะอึก) ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดราว 1.8-2 เซนติเมตร ที่ผิวมีขนยาวหนาแน่น ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ในผลมีเมล็ดแบนจำนวนมากเรียงเป็นแถวอยู่ภายใน และจะออกผลในช่วงปลายฤดูฝน ส่วนในเรื่องของรสชาติ มะอึกจะมีรสเปรี้ยวเป็นหลัก ซึ่งรสและกลิ่นจะมีเอกลักษณ์พิเศษในตัวของมัน

รูปมะอึก

ผลมะอึกลูกมะอึก
มะอึก จัดเป็นพืชพื้นบ้านของไทย คนไทยมีการใช้ประโยชน์จากมะอึกมาอย่างยาวนานทั้งในด้านอาหารและยา ซึ่งในตำรายาสมุนไพรก็ได้บรรยายสรรพคุณของมะอึกไว้อย่างหลากหลาย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ส่วนของใบ ราก เมล็ด และผล

สรรพคุณของมะอึก

  1. รากมะอึกมีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
  2. ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ (ผล)
  3. ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต (ราก)
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ผล)
  5. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก)
  6. ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป (เมล็ด)
  8. ขนของผลมะอึกสามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้ (ขน)
  9. รากช่วยแก้ปวด (ราก)
  10. ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี (ผล)
  11. รากแก้น้ำดีพิการ (ราก)
  12. ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ (ราก)
  13. ใบใช้เป็นยาพอก แก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก)
  14. ใบใช้ตำแก้พิษฝี (ใบ)
  15. ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น (ราก)

ประโยชน์ของมะอึก

  1. ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลอ่อนหรือผลสุก เช่น การนำมาทำเป็นน้ำพริกมะอึก แกงส้มกับหมูย่าง หรือใส่ส้มตำ แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เป็นต้น
  2. ช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร โดยจะให้รสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างไปจากรสเปรี้ยวจากแหล่งอื่น ๆ อย่างเช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะดัน เป็นต้น
  3. การรับประทานผลมะอึกจะช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายได้ และยังมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ฯลฯ ที่ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
  4. ช่วยล่อนกให้มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ เพราะผลมะอึกเป็นอาหารโปรดของมัน

คำแนะนำ : ก่อนการนำผลมะอึกมาใช้ทำอาหาร ควรขูดขนอ่อน ๆ ออกให้หมดเสียก่อนแล้วล้างน้ำให้สะอาด หรือจะปอกเปลือกออกเลยก็ได้ และผ่าเอาเมล็ดด้านในทิ้ง หั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ จะสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะอึก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 53 กิโลแคลอรีสมุนไพรมะอึก
  • คาร์โบไฮเดรต 9.5 กรัม
  • เส้นใย 3.6 กรัม
  • ไขมัน 0.8 กรัม
  • โปรตีน 1.9 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.07 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 4.9 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 26 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี, กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี, หนังสือคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย (กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), กรมวิชาการเกษตร, มูลนิธิหมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ baanmaha.com (by ฅนภูค่าว, DK ยโสธร), เว็บไซต์ the-than.com, เว็บไซต์ baanbaitong.com,  www.nakhontoday.com (ปางหวัน)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด