มะลิดิน
มะลิดิน ชื่อสามัญ Snake pennywort[2]
มะลิดิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Geophila repens (L.) I.M.Johnst. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carinta herbacea (Jacq.) W.Wight, Cephaelis herbacea (Jacq.) Kurz, Geocardia herbacea (Jacq.) Standl., Geophila herbacea (Jacq.) K.Schum., Mapouria herbacea (Jacq.) Müll.Arg., Psychotria herbacea Jacq., Uragoga herbacea (Jacq.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[2]
สมุนไพรมะลิดิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อุตพิตน้ำ (ภาคใต้), แก้มอ้น (นครศรีธรรมราช) ส่วนที่จังหวัดตราดเรียกว่า “มะลิดิน“[1]
ลักษณะของมะลิดิน
- ต้นมะลิดิน จัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ยาวได้มากกว่า 30 เซนติเมตร และมีความสูงของต้นประมาณ 20-50 เซนติเมตร ตามลำต้นมีขน พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ที่แอฟริกา เอเชีย มาดากัสการ์ และอเมริกา ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 100-1,200 เมตร[1],[2]
- ใบมะลิดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเกือบกลม มีขนาดกว้างและยาวเท่า ๆ กัน ประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือกลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น แผ่นใบเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมันวาว เส้นโคนใบมีประมาณ 2-3 คู่ เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 2-3 เส้น เรียงจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร มีขน มีหูใบรูปไตหรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อยู่ระหว่างก้านใบ[1]
- ดอกมะลิดิน ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกบริเวณปลายยอด ช่อดอกมีดอกประมาณ 1-3 ดอก เรียงเป็นช่อกระจุกแน่นคล้ายซี่ร่ม ก้านช่อยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ หลอดกลีบยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร กลีบเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ตามขอบมีขนครุย ส่วนดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ด้านในมีขน กลีบเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[1]
- ผลมะลิดิน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่กว้างเกือบกลม ฉ่ำน้ำ ผลเป็นสีแดงสดหรือสีแดงอมส้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของมะลิดิน
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาเย็น และขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
ประโยชน์ของมะลิดิน
- ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “มะลิดิน”. หน้า 124.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะลิดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [16 ส.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)