มะม่วงหัวแมงวัน
มะม่วงหัวแมงวัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Buchanania cochinchinensis (Lour.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Buchanania lanzan Spreng., Buchanania latifolia Roxb.)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1]
สมุนไพรมะม่วงหัวแมงวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วงแมงวัน (ลำปาง), หัวแมงวัน (สุโขทัย), มะม่วงหัวแมงวัน (นครราชสีมา, ราชบุรี), ฮักหมู ฮักผู้ (ภาคเหนือ), รักหมู (ภาคใต้), มะม่วงนก เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของมะม่วงหัวแมงวัน
- ต้นมะม่วงหัวแมงวัน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นได้ถึง 8-20 เมตร ขนาดโตวัดรอบได้ประมาณ 60-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนยาวสีน้ำตาลแดงทั่วไป เปลือกต้นแตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ดยาว ๆ ตามลำต้น มีสีเทาแก่หรือสีดำ เปลือกด้านในเป็นสีแดงเลือดหมู เมื่อถากเปลือกในจะมีน้ำยางสีน้ำตาลไหลซึมออกมา เมื่อถากทิ้งไว้จะมียางสีดำ ทำให้ผิวหนังพุพองได้ พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายหาด และป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 เมตร[1],[2]
- ใบมะม่วงหัวแมงวัน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปไข่กลับ รูปรียาว หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนสอบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเหนียวคล้ายหนังสัตว์ หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว[1],[2]
- ดอกมะม่วงหัวแมงวัน ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ก้านช่ออวลมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น แยกแขนงสั้น ๆ เวลาดอกบานทำให้ดูเป็นก้อนทึบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีน้ำตาล มีขนปกคลุมใต้กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงและรังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาว มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่ superior ovary 1 ห้อง 1 ออวุล มีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมก้านดอก[1],[2]
- ผลมะม่วงหัวแมงวัน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลมหรือป้อม ผลอ่อนเป็นสีเขียวปนม่วง หรือเขียวปนม่วงแดง เมื่อแก่เป็นสีดำ ผลมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นมะม่วงหัวแมงวันยังมีอีกสปีชีส์หนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Buchanania lanzan Spreng. โดยจะมีลักษณะของต้นและสรรพคุณทางยาคล้ายคลึงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้
สรรพคุณของมะม่วงหัวแมงวัน
- ยางและราก นำมาบดใช้ทำยาแก้โรคท้องร่วง (ยางและราก)[1],[2],[3]
- เมล็ดนำมาสกัดเอาน้ำมันไปใช้ทำพวกเคมีภัณฑ์ ทำเป็นยาแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)[1],[2],[3,[4]]
- หลายส่วนของต้นมะม่วงหัวแมงวันชนิด Buchanania lanzan Spreng. ใช้เป็นยารักษาไข้ กามโรค โรคผิวหนัง งูและแมลงป่องกัด ป้องกันแบคทีเรีย[3]
- เปลือกต้น (Buchanania lanzan Spreng.) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการอักเสบจากพืชพิษ (ข้อมูลจาก : หนังสือไม้ป่ายืนต้นของไทย 1, หน้า 402 (เอื้อมพร วีสมหมาย, ปณิธาน แก้วดวงเทียม))
ประโยชน์ของต้นมะม่วงหัวแมงวัน
- ผลมะม่วงหัวแมงวันมีรสหวาน ใช้รับประทานได้ แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปอาจระคายเคืองในลำคอได้ เพราะมียางคล้ายในพวกมะม่วงทั่วไป[2],[3],[4]
- ยางและรากใช้ทำสีย้อมผ้า สีพิมพ์ผ้า[2],[3]
- เนื้อไม้มีสีน้ำตาลปนเทา สามารถนำมาใช้ทำลังใส่สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน หรือใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำประตู หน้าต่าง เสา รั้ว เป็นต้น[2],[3],[4]
- กิ่งก้านใช้ทำฟืน เผาทำถ่าน หรือทำกระสวย ใช้ในการทอผ้าได้[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “มะม่วงหัวแมงวัน”. หน้า 123.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะม่วงหัวแมงวัน”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [02 พ.ย. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะม่วงหัวแมงวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [02 พ.ย. 2014].
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะม่วงหัวแมงวัน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [02 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)