มะพูด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะพูด 17 ข้อ !

มะพูด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะพูด 17 ข้อ !

มะพูด

มะพูด ชื่อสามัญ Garcinia

มะพูด ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ามะพูดเป็นพรรณไม้ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia vilersiana Pierre[10]) จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)[1],[2],[3],[4]

สมุนไพรมะพูด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไข่จระเข้ ตะพูด ส้มปอง ส้มม่วง (จันทบุรี), พะวาใบใหญ่ (จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด (ภาคเหนือ), ปะหูด มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด มะพูด (ภาคกลาง), ตะพูด พะวา ประหูด ประโหด ประโฮด มะนู (เขมร), ปะพูด เป็นต้น[3],[5],[6],[10]

ลักษณะของมะพูด

  • ต้นมะพูด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน[3] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-10 เมตร (บ้างว่ามีความสูงประมาณ 15 เมตร) เรือนยอดเป็นกลมกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีร่องรอยของแผลเป็น มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป โดยจะแตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่มโปร่ง ก้านจะแตกออกจากลำต้นค่อนข้างถี่ และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กล้าปักชำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายห้วยหรือพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ โดยจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และในพื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ส่วนในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ชวา ลาว กัมพูชา และบอร์เนียว[1],[2],[3],[5],[6]

ต้นมะพูดลำต้นมะพูด
  • ใบมะพูด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือแกมรูปขอบขนาน โคนใบกว้างมนตัดตรง เว้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปหัวใจและค่อย ๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-25 เมตร แผ่นใบมักเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนละเอียด แต่บางครั้งก็เกลี้ยง เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองอมสีเทา ส่วนก้านใบสั้นย่นขรุขระยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และมีขนบาง ๆ ขึ้นปกคลุม[1],[2],[3]

ใบมะพูด

  • ดอกมะพูด ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก โดยจะออกดอกตามซอกใบหรือตามแผลใบและตามกิ่งก้าน ดอกเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบซ้อนกันอยู่ ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงกลม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หนาและเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร บานเป็นรูปถ้วยโถ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[3],[7]

ดอกมะพูด

รูปดอกมะพูด

  • ผลมะพูด ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองสดอมสีส้ม เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยวอมหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี สีน้ำตาล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[7]

รูปมะพูด

ผลมะพูด

ลูกมะพูด

สรรพคุณของมะพูด

  1. น้ำคั้นจากผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล, น้ำคั้นจากผล)[1],[2],[3]
  2. รากมีรสจืด เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[2],[3]
  3. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก)[1],[2],[3]
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ผล, น้ำคั้นจากผล)[1],[2],[3],[4]
  5. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ผล, น้ำคั้นจากผล)[1],[2],[3]
  6. ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ (ผล, น้ำคั้นจากผล)[1],[2],[3],[4]
  7. ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผล)[4]
  8. ช่วยถอนพิษผิดสำแดง (ราก)[1],[2],[3]
  9. ช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก (ผล)[4]
  10. เปลือกต้นมีรสฝาด นำไปต้มกรองเอาแต่น้ำใช้ชำระล้างบาดแผล (เปลือกต้น)[2],[3],[4]
  11. ช่วยแก้อาการช้ำใน (ผล)[4]
  12. เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือเกลือ ใช้ทาแก้อาการบวม (เมล็ด)[9]

ประโยชน์ของต้นมะพูด

  1. ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และในปัจจุบันได้มีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และผลไม้กวนจำหน่าย[2],[3],[9]
  2. ผลดิบมีรสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวในการทำแกงส้มกุ้งสดได้[3]
  3. ใบและเปลือกต้นใช้สกัดย้อมสีเส้นไหม โดยจะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองของดอกบวบ[3] ให้สีเหลืองสด หรือ สีน้ำตาล[6]
  4. ต้นมะพูดเป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสวยงาม ใบและผลเด่น จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ เช่น ปลูกในบริเวณศาลา ใกล้ทางเดิน ริมน้ำ ในสวนผลไม้ เป็นต้น[3],[7]
  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากปลูกต้นมะพูดไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา พูดในสิ่งที่ดีงาม พูดจาไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน แก้เด็กปากหนักไม่ยอมพูดกับใคร โดยจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน[3],[5]

คุณค่าทางโภชนาการของผลมะพูด ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 49 Unit
  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 12.2 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.0 มิลลิกรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 42 I.U.
  • วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 5 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร[8]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “มะพูด (Mapud)“.  หน้าที่ 229.
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [12 ม.ค. 2014].
  3. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา.  “มะพูด“.  (รศ.ชนะ วันหนุน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 158.108.70.5/botanic/.  [12 ม.ค. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [12 ม.ค. 2014].
  5. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [12 ม.ค. 2014].
  6. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [12 ม.ค. 2014].
  7. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/.  [12 ม.ค. 2014].
  8. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “มะพูด“.  อ้างอิงใน: หนังสือไม้อเนกประสงค์กินได้ (คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [12 ม.ค. 2014].
  9. เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 29 ธันวาคม 2554.  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.  [12 ม.ค. 2014].
  10. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “มะพูด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [12 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by CANTIQ UNIQUE, Starr Environmental), www.botany.hawaii.edu

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด