มะพอก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะพอก 8 ข้อ !

มะพอก

มะพอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari anamensis Hance จัดอยู่ในวงศ์มะพอก (CHRYSOBALANACEAE)[1]

สมุนไพรมะพอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จัด จั๊ด (ลำปาง), พอก (อุบลราชธานี), มะคลอก (สุโขทัย, อุตรดิตถ์), หมักมอก (พิษณุโลก), ประดงไฟ ประดงเลือด (ราชบุรี), กระท้อนลอก (ตราด), ท่าลอก (พิษณุโลก, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์), หมากรอก (ประจวบคีรีขันธ์), มะมื่อ หมักมื่อ (ภาคเหนือ), ตะเลาะ เหลอะ (ส่วย สุรินทร์), ตะลอก, ตะโลก เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของมะพอก

  • ต้นมะพอก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ปลายกิ่งมักลู่ลง ตามกิ่งอ่อนมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาล เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกเรียบ แตกเป็นสะเก็ดถี่ หรือแตกเป็นร่องลึก ลอกหลุดได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าผสม ป่าเต็งรัง และตามป่าเบญจพรรณ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,500 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม[1],[2]

ต้นมะพอก

เปลือกต้นมะพอก

  • ใบมะพอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนหยักคอดและมีติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเหลือบขาวเด่นชัดและมีขนละเอียดด้านล่างสีขาวแกมน้ำตาล หลังใบอ่อนมีขนสาก ส่วนใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นใบข้างตรงและขนานกัน 12-15 คู่ เส้นใบนูนด้านบน ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และมักมีต่อมเล็ก ๆ 2 ต่อม [1],[2]

ใบมะพอก

  • ดอกมะพอก ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ก้านช่อมีขนสีน้ำตาลอมส้มขึ้นอยู่หนาแน่น ดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ แยกออกจากกันอย่างอิสระ ยาวพอ ๆ กับกลีบเลี้ยง ก้านดอกมีขนาดสั้นมาก กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกแหลม ขนาดไม่เท่ากัน ขนาดประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร สีขาวปนเหลือง ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5-12 อัน ขนาดไม่เท่ากัน ก้านเกสรเพศเมียติดที่ฐานของรังไข่ ขนาดยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น เชื่อมกับชั้นกลีบเลี้ยงด้านหนึ่ง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1],[2]

ดอกมะพอก

  • ผลมะพอก ผลเป็นผลสด ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม กลมรีเหมือนไข่ หรือเป็นรูปกระสวย มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลเป็นสีน้ำตาลมีจุดประสีขาว ผิวผลหยาบไม่เรียบ ผิวฉ่ำน้ำเนื้อชุ่มบาง ชั้นในมีขนหนาแน่น เนื้อในแข็ง เมล็ดเดี่ยวโต ลักษณะแข็ง ออกเป็นช่อประมาณ 3-15 ผล ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]

รูปมะพอก

ผลมะพอก

สรรพคุณของมะพอก

  1. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้แก่นมะพอกผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หืด (แก่น)[1],[2]
  2. ตำรายาไทยจะใช้แก่นมะพอก นำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบแก้ประดง (อาการของโรคผิวหนังที่เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมากและมักมีไข้ร่วมด้วย) แก้ผื่นคันทั่วตัว ปวดแสบปวดร้อน มีน้ำเหลืองไหลซึม (แก่น)[1],[2]
  3. เปลือกต้นมะพอกใช้เป็นยาประคบแก้อาการช้ำใน แก้ปวดบวม (เปลือกต้น)[1],[2]
  4. เปลือกต้นอุ่นไอน้ำร้อนใช้ประคบแก้อาการฟกช้ำ (เปลือกต้น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะพอก

แก่นมะพอก

  • เปลือกต้นมะพอกเมื่อนำมาทำการสกัดด้วยเทคนิคแบบ Sequential Extraction โดยการหมักแบบ Maceration ด้วยตัวทำละลายอินทรีย์เรียงจากตัวทำละลายที่มีขั้วต่ำไปสูง คือ เฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอล ตามลำดับ และนำสารสกัดไปกรองและระเหยแยกตัวทำละลายออกด้วยเครื่องระเหยสุญญากาศแบบหมุนจะได้สารสกัดหยาบ และนำสารสกัดหยาบที่ได้ทดลองสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) สายพันธุ์ K1 ด้วยวิธี Microculture Radioisotope Technique ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นมะพอกที่สกัดด้วยตัวทำละลายที่เป็นเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า IC50 เท่ากัน 3.25 µg/ml ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นการยืนยันฤทธิ์ทางชีวภาพด้านการออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียของมะพอก ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อผลิตเป็นยาต่อไปได้ (ข้อมูลจาก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดมเดชา พลเยี่ยม)

ประโยชน์ของมะพอก

  • เนื้อผลสุกรอบ ๆ เมล็ด มีรสหวานหอม ใช้รับประทานได้[2] ชาวบ้านจะใช้เนื้อของผลสุกนำมาบดผสมกับแป้งและน้ำตาล ทำเป็นขนมหวานรับประทาน ซึ่งจะมีกลิ่นหอมเฉพาะของมะพอก ในปัจจุบันมีคนรับประทานน้อย แต่ก็ยังมีคนรับประทานอยู่บ้าง
  • เนื้อข้างในเมล็ดมีรสมันคล้ายถั่ว ใช้รับประทานได้ เมื่อกะเทาะเปลือกหุ้มเมล็ดจะพบข้างในมีปุยสีน้ำตาลคล้ายปุยฝ้ายหุ้มเมล็ดอยู่ กระแต กระรอก ชอบกินเมล็ดใน[2]
  • เมล็ดนำมาสกัดเอาน้ำมันใช้ทำเป็นน้ำมันหมึกพิมพ์และน้ำมันหล่อลื่น[2] น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทาเครื่องเขินให้เป็นเงา ทากระดาษร่มกันน้ำซึม ใช้เคลือบธนบัตรให้มีความทนทานเป็นเงาและเนื้อกระดาษไม่ติดกัน[3] (บางข้อมูลระบุว่า น้ำมันจากเมล็ดมะพอกมีคุณสมบัติในการใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันชักเงาและเครื่องสำอางได้อีกด้วย)
  • เนื้อไม้ กระพี้สีเหลืองอ่อน แก่นสีชมพูเรื่อ ๆ เนื้อค่อนข้างละเอียด สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำฝา ฝ้า ทำกระดานได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “มะพอก”.  หน้า 122.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะพอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [03 พ.ย. 2014].
  3. พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร.  “มะพอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/มะพอก.pdff.  [03 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.nonkhro.ac.th, rspg.dusit.ac.th, pharmacy.mahidol.ac.th/siri/, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด