มะฝ่อ
มะฝ่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ Trewia nudiflora L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรมะฝ่อ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะปอบ (ภาคเหนือ), ม่อแน่ะ เส่โทคลึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หม่าที (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของมะฝ่อ
- ต้นมะฝ่อ จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบช่วงสั้น มีความสูงได้ประมาณ 20-30 เมตร กิ่งก้านใหญ่และแผ่กว้าง โคนต้นมีพูพอนเล็ก ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งก้านภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตามกิ่งอ่อน ท้องใบ และช่อมีขนรูปดาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ ป่าชุ่มชื้นหรือริมห้วย ที่ระดับความสูงประมาณ 50-600 เมตร[1],[2],[3]
- ใบมะฝ่อ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง รูปไข่แกมรี รูปหัวใจ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนแหลมหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบคล้ายใบโพ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นที่เส้นใบมีขน ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นปกคลุม เส้นใบแตกจากฐานใบ 3 เส้น ใบอ่อนมีขนรูปดาวหนาแน่น ใบแก่บางเป็นสีเขียวออกเหลือง[1],[2]
- ดอกมะฝ่อ ออกดอกตามซอกใบ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเป็นสีครีมอมเขียว ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้จะออกช่อตามซอกใบ มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร ดอกจะทยอยบานจากโคนไปสู่ปลายช่อ กลีบรองดอกมีประมาณ 3-4 กลีบ ขนาดประมาณ 3.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อ ๆ ก้านดอกยาว มีกลีบรองดอกประมาณ 3-5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย รังไข่มี 2-4 ช่อง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2]
- ผลมะฝ่อ ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ผลแข็ง มีขน และฉ่ำน้ำ ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดเดี่ยว[1],[2]
สรรพคุณของมะฝ่อ
- น้ำต้มจากเปลือกต้นเป็นยาเย็น มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[3]
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (เปลือกต้น)[3]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม แก้อาการท้องอืด (ราก)[2],[3]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ (เปลือกต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ท่อน้ำดีอักเสบ (เปลือกต้น)[3]
- ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นและรากมะฝ่อ เข้ายาแก้พิษต่อผิวหนัง มีอาการคัน (เปลือกต้น, ราก)[1]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เปลือกต้นมะฝ่อนำมาย่างกับไฟ ต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำชา เป็นยารักษาอาการปวดบวมทั้งตัว (เปลือกต้น)[1]
- น้ำต้มจากรากใช้เป็นยาทาถูนวดแก้อาการปวดตามข้อ (ราก)[3]
ประโยชน์ของมะฝ่อ
- ผลมีรสหวาน ใช้รับประทานได้[1],[2]
- เนื้อไม้ใช้ทำหีบ ลังใส่ของ และใช้ทำก้านไม้ขีด คนสมัยก่อนจะนำมาใช้ทำแอกไถนา เพราะมีน้ำหนักเบา[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะฝ่อ”. หน้า 216.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะฝ่อ”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [03 พ.ย. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะฝ่อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [03 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Saroj Kumar Kasaju, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)