มะดูก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะดูก 10 ข้อ !

มะดูก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะดูก 10 ข้อ !

มะดูก

มะดูก ชื่อสามัญ Ivru wood[5]

มะดูก ชื่อวิทยาศาสตร์ Siphonodon celastrineus Griff. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)[1]

สมุนไพรมะดูก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยายปลวก (สุราษฎร์ธานี), ไม้มะดูก (คนเมือง), บั๊กโค้ก (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของมะดูก

  • ต้นมะดูก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 20-35 เมตร แตกกิ่งก้านทึบ เรือนยอดมีลักษณะกลมทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมดำแตกเป็นร่องตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดเต็มวัน เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าราบ ป่าโปร่งที่ค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[4],[5]

ต้นมะดูก

  • ใบมะดูก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบแถบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเป็นหยักหรือจักเป็นซี่ฟันตื้น ๆ จักห่างหรือแทบมองเห็นไม่ชัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-9 นิ้ว แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวอมเทา[1],[2],[5]

ใบมะดูก

  • ดอกมะดูก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีประมาณ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5-11 มิลลิเมตร บางทีมีจุดสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปรี มี 5 กลีบ ซ้อนทับกัน มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นรูปไจหรือกึ่งกลม ค่อนข้างมน ยาวได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเชื่อมติดกับกลีบดอกข้างใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แบน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ครึ่งหนึ่งหรือใกล้ ๆ โคนดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[5]

ดอกมะดูก

  • ผลมะดูก ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-3 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ดรูปไข่หลายเมล็ด เป็นผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[5]

ผลมะดูก

เมล็ดมะดูก

ลูกมะดูก

สรรพคุณของมะดูก

  1. รากมีรสมันเมา ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก (ราก)[1],[2]
  2. ลำต้นมะดูก นำมาตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพานควาย, ข้าวหลามดง, ตานเหลือง, มะตันขอ, ม้ากระทืบโรง, หัวยาข้าวเย็น, แก่นฝาง, โด่ไม่รู้ล้ม และเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น)[3]
  3. รากนำมาต้มผสมกับขันทองพยาบาท ใช้กินเป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ราก)[4]
  4. รากใช้กินเป็นยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก (ราก)[1],[2]
  5. รากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก (ราก)[1],[2]
  6. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน (ราก)[2]
  7. รากใช้เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (ราก)[1],[2]
  8. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ (ราก)[3]

ประโยชน์ของมะดูก

  1. ผลมะดูกสุก ใช้รับประทานได้ มีรสหวานกลิ่นหอม[1],[2]
  2. มีใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปบ้าง[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “มะดูก”.  หน้า 612-613.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “มะดูก”.  หน้า 152.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะดูก”.  อ้างอิงใน :  หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [04 พ.ย. 2014].
  4. คมชัดลึกออนไลน์.  (นายสวีสอง).  “มะดูก ผลกินได้-รากเป็นยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [04 พ.ย. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “มะดูก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [04 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (by JATO)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด