มะคําดีควาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะคำดีควาย 28 ข้อ !

มะคำดีควาย

สมุนไพรมะคำดีควาย หรือ ประคำดีควาย เป็นชื่อของพรรณไม้ 2 ชนิด ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน (สามารถนำมาใช้แทนกันได้) ได้แก่

มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f.) มีชื่อสามัญว่า Soap Nut Tree และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประคำดีควาย (ภาคกลาง), มะซัก ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 คู่[1],[3],

มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus trifoliatus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus emarginatus Vahl, Sapindus laurifolius Vahl) มีชื่อสามัญว่า Soapberry Tree และมีชื่อเรียกอื่นว่า “ประคำดีควาย” ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเพียง 2-4 ใบ (บางข้อมูลว่ามี 4-6 ใบย่อย)[2],[6],[7],[8]

ลักษณะของมะคำดีควาย

  • ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[2],[6],[7]

ต้นมะคำดีควาย

ต้นมะคําดีควาย

  • ใบมะคำดีควาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว[2],[6]

ใบมะคำดีควาย

  • ดอกมะคำดีควาย ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน[1],[2]

ดอกมะคำดีควาย

ดอกมะคําดีควาย

  • ผลมะคำดีควาย ผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง[1],[2],[3]

ลูกประคำดีควาย

มะคำดีควาย

หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าชนิดใบรีแกมรูปขอบขนาน คือ มะคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus emarginatus Wall. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร) ส่วนชนิดใบเป็นรูปหอก คือ ประคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak A. DC. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร)

สรรพคุณของมะคำดีควาย

  1. เปลือกต้นมีรสเฝื่อนขม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)[1],[2],[6]
  2. ผลใช้รักษาชันนะตุบนศีรษะ แก้เชื้อรา แก้รังคา (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) ด้วยการใช้ผลประมาณ 4-5 ผล นำมาแกะเอาแต่เนื้อ นำไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย แล้วใช้น้ำทาบนศีรษะที่เป็นชันนะตุวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย หรือจะใช้เนื้อผล 1 ผล นำมาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย (บางข้อมูลระบุว่าสามารถช่วยป้องกันผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย แก้อาการคันหนังศีรษะ ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ บำรุงรากผมให้แข็งแรง ช่วยขจัดตัวเหา ไข่เหา หรือนำไปหมักเอาน้ำทาแก้โรคสะเก็ดเงิน) แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรทิ้งไว้นานจนเกินไป (ผล)[2],[3],[7],[8]
  3. ผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้รักษาโรคตัวร้อน นอนไม่หลับ นอนสะดุ้ง ผวา แก้สลบ แก้สารพัดพิษ สารพัดกาฬ แก้ไข้สารพัดไข้ทั้งปวง แก้ไข้จับเซื่องซึม ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย แก้ฝีเกลื้อน แก้พิษ แก้หัด สุกใส (ผล)[2]
  4. ใบนำมาปรุงเป็นยาแก้พิษกาฬ ดับพิษกาฬ ช่วยแก้ทุราวสา (ใบ)[1],[2],[6]
  5. ใช้ผลแห้งนำไปคั่วให้เกรียม ใช้ปรุงเป็นยาดับพิษทุกชนิด แก้พิษตานซาง แก้กาฬ แก้กาฬภายใน แก้ไข้เลือดออก แก้ไข้เซื่องซึม หรือใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ ใช้กินแก้หอบอันเนื่องมาจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้จุดกาฬ แก้เสลด สุมฝีที่เปื่อยพัง (ผล)[1],[2],[3],[6]
  6. เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน (เปลือกต้น)[1],[2],[6]
  7. ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน แล้วปรุงเป็นยาดับพิษร้อนในร่างกาย (ผล)[4]
  8. ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน ทำเป็นยารับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ผล)[3]
  9. ผลนำมาต้มเอาฟองใช้สุมหัวเด็กเพื่อแก้หวัด คัดจมูกได้ (ผล)[3]
  10. ช่วยแก้หืดหอบ (ผล)[1] รากช่วยแก้หืด แก้ไอ (ราก)[2],[5]
  1. ต้นช่วยแก้ลมคลื่นเหียน (ต้น)[2]
  2. รากช่วยรักษามองคร่อ (โรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง) (ราก)[2]
  3. เมล็ด รับประทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) (เมล็ด)[5]
  4. ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มรับประทานแก้อาการท้องผูก (ใบอ่อน)[5] ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมานึ่งรับประทานเป็นยาแก้อาการถ่ายไม่ออก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ยอดอ่อน)[5]
  5. รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีในท้อง (ราก)[2]
  6. ชาวลั้วะจะนำเมล็ดมารับประทานทั้งเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[5]
  7. รากมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้ริดสีดวง (ราก)[2],[6]
  8. ผลช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)[3]
  9. ช่วยรักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ผลประมาณ 10-15 ผล นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วใช้เฉพาะน้ำนำมาชะล้างหรือแช่บริเวณที่เป็นแผลประมาณ 5 นาที โดยให้ทำทั้งเช้าและเย็น (ผล)[3]
  10. ใช้เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ (เปลือกต้น)[1],[2]
  11. เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง นำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกหรือเอามาละลายกับน้ำล้างแผล ช่วยแก้โรคผิวหนังได้ (เมล็ด)[1],[2],[6] ส่วนผลก็ช่วยแก้โรคผิวหนังเช่นกัน (ผล)[1],[2]
  12. ดอกมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้พิษ แก้เม็ดผดผื่นคัน (ดอก)[2],[6]
  13. ผลนำมาทุบให้แตกแล้วนำไปแช่กับน้ำ นำมาใช้ล้างหน้าเพื่อรักษาผิว[3],[6],[7],[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะคำดีควาย

  • สารสำคัญที่พบได้แก่ ß-Sitosterol, Emarginatoside, Quercetin, Quercetin-3-a-A-arabofuranoside, O-Methyl-Saponin, Sapindus – Saponin[2]
  • จากการทดลองทางคลินิกด้วยการใช้น้ำสกัดมะคำดีควายฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ[9]
  • เนื้อผลมีฤทธิ์ลดการเคลื่อนที่ของอสุจิและลดความเข้มข้นของอสุจิในหนูขาว[9]
  • เนื้อผลมะคำดีควายมีสารซาโปนินที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก โรคผิวหนังได้ดี[3],[8],[9] และมีฤทธิ์ฆ่าหอย[9]
  • จากการทดลองด้วยการทาสารสกัดเอทานอลของผลมะคำดีควายที่ความเข้มข้นร้อยละ 2 พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา และการใช้แชมพูจากสารสกัดของผลมะคำดีควายที่ความเข้มข้น 6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร พบว่าจะช่วยทำให้เส้นผมสะอาดและช่วยลดอาการคันบนหนังศีรษะ[9]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการใช้สารที่สกัดได้จากผลประคำดีควายด้วยแอลกอฮอล์ปริมาณ 50% ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม โดยทำการทดลองฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งคือ 2.0 กรัมต่อกิโลกรัม ปรากฏว่าไม่พบอาการพิษ (ขนาดที่ใช้เท่ากับ 2,083 เท่า ของปริมาณยาที่ใช้ในตำรับยา)[1]

ประโยชน์ของมะคำดีควาย

  1. ใบนำมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (ลั้วะ)[5]
  2. ชาวบ้านตามชนบทจะนิยมนำผลมาใช้เป็นสารชะล้างแทนสบู่เพื่อชำระล้างร่างกาย สระผม หรือนำไปใช้ซักผ้า ผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือใช้ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องเพชร ฯลฯ เพราะผลเมื่อนำมาทุบแล้วจะเกิดฟองคล้ายสบู่ (ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแชมพูสระผม (แชมพูมะคำดีควาย) ครีมนวดผม น้ำยาล้างจาน)[1],[2],[3]
  3. เมล็ดมะคำดีควายมีลักษณะกลมและแข็ง มีสีน้ำตาลดำ สามารถนำไปใช้ร้อยทำเป็นลูกประคำได้[4]
  4. ผลมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็นมาก โดยเฉพาะปลา จึงมีการนำมาใช้ในการเบื่อปลา และใช้เป็นยาฆ่าแมลง[3]
  5. ผลหรือลูกประคำดีควายที่สกัดเอาน้ำแล้วนำไปคลุกกับเหยื่อพิษ หรือใช้ฉีดพ่นต้นข้าว จากนั้นนำไปวางในนาข้าว เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้ โดยขั้นตอนการทำก็เริ่มจากการนำลูกประคำดีควาย 1 ส่วน ต่อน้ำร้อน 2 ส่วน แช่ลูกประคำดีควายกับน้ำไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นให้ขยำเนื้อให้ละเอียด แยกเอาเมล็ดออก แล้วนำผ้าขาวบางมากรองเอาแต่สารละลาย เสร็จแล้วให้นำสารละลายที่กรองได้มาผสมกับน้ำเพิ่มอีกในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 (สารละลาย 1 ส่วนต่อน้ำเปล่า 6 ส่วน) แค่นี้ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนเนื้อของลูกประคำดีควายสามารถนำมาผสมกับน้ำและคั้นเอาสารสกัดได้อีก 2 ครั้ง[10]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะคำดีควาย

  • การรับประทานผลจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องร่วง ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้[3]
  • หากผงซึ่งมีสารซาโปนินอยู่เข้าทางจมูก จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้จามได้ ถ้าหากฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก[3]
  • การใช้ผลเพื่อสระผม เพื่อรักษาชันนะตุ รังแค เชื้อรา ในขณะสระต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรใช้ในปริมาณมากหรือใช้บ่อยจนเกินไป หากใช้แล้วให้ล้างออกให้หมด มิฉะนั้นอาจทำให้ผมร่วงได้ และเมื่อใช้รักษาจนหายแล้วก็ให้เลิกใช้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ประคำดีควาย”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 445-446.
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ประคําดีควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 เม.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะคําดีควาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [18 เม.ย. 2014].
  4. ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.
  5. หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์.  (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).
  6. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “มะคําดีควาย”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 218.
  7. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “มะคำดีควาย”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 151.
  8. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะคำดีควาย Soapberry”.  หน้า 183.
  9. หนังสือสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน.  (ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ และศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์).  “มะคําดีควาย”.
  10. ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “อาจารย์ มมส เผยงานวิจัย… ใช้ประคำดีควายกำจัดหอยเชอรี่ได้ผล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/index.php.  [18 เม.ย. 2014]

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mamatha Rao, Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด