มะคำดีควาย
สมุนไพรมะคำดีควาย หรือ ประคำดีควาย เป็นชื่อของพรรณไม้ 2 ชนิด ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน (สามารถนำมาใช้แทนกันได้) ได้แก่
มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f.) มีชื่อสามัญว่า Soap Nut Tree และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประคำดีควาย (ภาคกลาง), มะซัก ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 คู่[1],[3],
มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus trifoliatus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus emarginatus Vahl, Sapindus laurifolius Vahl) มีชื่อสามัญว่า Soapberry Tree และมีชื่อเรียกอื่นว่า “ประคำดีควาย” ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเพียง 2-4 ใบ (บางข้อมูลว่ามี 4-6 ใบย่อย)[2],[6],[7],[8]
ลักษณะของมะคำดีควาย
- ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[2],[6],[7]
- ใบมะคำดีควาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว[2],[6]
- ดอกมะคำดีควาย ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน[1],[2]
- ผลมะคำดีควาย ผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง[1],[2],[3]
หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าชนิดใบรีแกมรูปขอบขนาน คือ มะคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus emarginatus Wall. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร) ส่วนชนิดใบเป็นรูปหอก คือ ประคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak A. DC. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร)
สรรพคุณของมะคำดีควาย
- เปลือกต้นมีรสเฝื่อนขม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)[1],[2],[6]
- ผลใช้รักษาชันนะตุบนศีรษะ แก้เชื้อรา แก้รังคา (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) ด้วยการใช้ผลประมาณ 4-5 ผล นำมาแกะเอาแต่เนื้อ นำไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย แล้วใช้น้ำทาบนศีรษะที่เป็นชันนะตุวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย หรือจะใช้เนื้อผล 1 ผล นำมาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย (บางข้อมูลระบุว่าสามารถช่วยป้องกันผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย แก้อาการคันหนังศีรษะ ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ บำรุงรากผมให้แข็งแรง ช่วยขจัดตัวเหา ไข่เหา หรือนำไปหมักเอาน้ำทาแก้โรคสะเก็ดเงิน) แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรทิ้งไว้นานจนเกินไป (ผล)[2],[3],[7],[8]
- ผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้รักษาโรคตัวร้อน นอนไม่หลับ นอนสะดุ้ง ผวา แก้สลบ แก้สารพัดพิษ สารพัดกาฬ แก้ไข้สารพัดไข้ทั้งปวง แก้ไข้จับเซื่องซึม ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย แก้ฝีเกลื้อน แก้พิษ แก้หัด สุกใส (ผล)[2]
- ใบนำมาปรุงเป็นยาแก้พิษกาฬ ดับพิษกาฬ ช่วยแก้ทุราวสา (ใบ)[1],[2],[6]
- ใช้ผลแห้งนำไปคั่วให้เกรียม ใช้ปรุงเป็นยาดับพิษทุกชนิด แก้พิษตานซาง แก้กาฬ แก้กาฬภายใน แก้ไข้เลือดออก แก้ไข้เซื่องซึม หรือใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ ใช้กินแก้หอบอันเนื่องมาจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้จุดกาฬ แก้เสลด สุมฝีที่เปื่อยพัง (ผล)[1],[2],[3],[6]
- เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน (เปลือกต้น)[1],[2],[6]
- ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน แล้วปรุงเป็นยาดับพิษร้อนในร่างกาย (ผล)[4]
- ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน ทำเป็นยารับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ผล)[3]
- ผลนำมาต้มเอาฟองใช้สุมหัวเด็กเพื่อแก้หวัด คัดจมูกได้ (ผล)[3]
- ช่วยแก้หืดหอบ (ผล)[1] รากช่วยแก้หืด แก้ไอ (ราก)[2],[5]
- ต้นช่วยแก้ลมคลื่นเหียน (ต้น)[2]
- รากช่วยรักษามองคร่อ (โรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง) (ราก)[2]
- เมล็ด รับประทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) (เมล็ด)[5]
- ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มรับประทานแก้อาการท้องผูก (ใบอ่อน)[5] ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมานึ่งรับประทานเป็นยาแก้อาการถ่ายไม่ออก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ยอดอ่อน)[5]
- รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีในท้อง (ราก)[2]
- ชาวลั้วะจะนำเมล็ดมารับประทานทั้งเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[5]
- รากมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้ริดสีดวง (ราก)[2],[6]
- ผลช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)[3]
- ช่วยรักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ผลประมาณ 10-15 ผล นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วใช้เฉพาะน้ำนำมาชะล้างหรือแช่บริเวณที่เป็นแผลประมาณ 5 นาที โดยให้ทำทั้งเช้าและเย็น (ผล)[3]
- ใช้เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ (เปลือกต้น)[1],[2]
- เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง นำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกหรือเอามาละลายกับน้ำล้างแผล ช่วยแก้โรคผิวหนังได้ (เมล็ด)[1],[2],[6] ส่วนผลก็ช่วยแก้โรคผิวหนังเช่นกัน (ผล)[1],[2]
- ดอกมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้พิษ แก้เม็ดผดผื่นคัน (ดอก)[2],[6]
- ผลนำมาทุบให้แตกแล้วนำไปแช่กับน้ำ นำมาใช้ล้างหน้าเพื่อรักษาผิว[3],[6],[7],[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะคำดีควาย
- สารสำคัญที่พบได้แก่ ß-Sitosterol, Emarginatoside, Quercetin, Quercetin-3-a-A-arabofuranoside, O-Methyl-Saponin, Sapindus – Saponin[2]
- จากการทดลองทางคลินิกด้วยการใช้น้ำสกัดมะคำดีควายฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ[9]
- เนื้อผลมีฤทธิ์ลดการเคลื่อนที่ของอสุจิและลดความเข้มข้นของอสุจิในหนูขาว[9]
- เนื้อผลมะคำดีควายมีสารซาโปนินที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก โรคผิวหนังได้ดี[3],[8],[9] และมีฤทธิ์ฆ่าหอย[9]
- จากการทดลองด้วยการทาสารสกัดเอทานอลของผลมะคำดีควายที่ความเข้มข้นร้อยละ 2 พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา และการใช้แชมพูจากสารสกัดของผลมะคำดีควายที่ความเข้มข้น 6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร พบว่าจะช่วยทำให้เส้นผมสะอาดและช่วยลดอาการคันบนหนังศีรษะ[9]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ ด้วยการใช้สารที่สกัดได้จากผลประคำดีควายด้วยแอลกอฮอล์ปริมาณ 50% ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม โดยทำการทดลองฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งคือ 2.0 กรัมต่อกิโลกรัม ปรากฏว่าไม่พบอาการพิษ (ขนาดที่ใช้เท่ากับ 2,083 เท่า ของปริมาณยาที่ใช้ในตำรับยา)[1]
ประโยชน์ของมะคำดีควาย
- ใบนำมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (ลั้วะ)[5]
- ชาวบ้านตามชนบทจะนิยมนำผลมาใช้เป็นสารชะล้างแทนสบู่เพื่อชำระล้างร่างกาย สระผม หรือนำไปใช้ซักผ้า ผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือใช้ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องเพชร ฯลฯ เพราะผลเมื่อนำมาทุบแล้วจะเกิดฟองคล้ายสบู่ (ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแชมพูสระผม (แชมพูมะคำดีควาย) ครีมนวดผม น้ำยาล้างจาน)[1],[2],[3]
- เมล็ดมะคำดีควายมีลักษณะกลมและแข็ง มีสีน้ำตาลดำ สามารถนำไปใช้ร้อยทำเป็นลูกประคำได้[4]
- ผลมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็นมาก โดยเฉพาะปลา จึงมีการนำมาใช้ในการเบื่อปลา และใช้เป็นยาฆ่าแมลง[3]
- ผลหรือลูกประคำดีควายที่สกัดเอาน้ำแล้วนำไปคลุกกับเหยื่อพิษ หรือใช้ฉีดพ่นต้นข้าว จากนั้นนำไปวางในนาข้าว เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้ โดยขั้นตอนการทำก็เริ่มจากการนำลูกประคำดีควาย 1 ส่วน ต่อน้ำร้อน 2 ส่วน แช่ลูกประคำดีควายกับน้ำไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นให้ขยำเนื้อให้ละเอียด แยกเอาเมล็ดออก แล้วนำผ้าขาวบางมากรองเอาแต่สารละลาย เสร็จแล้วให้นำสารละลายที่กรองได้มาผสมกับน้ำเพิ่มอีกในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 (สารละลาย 1 ส่วนต่อน้ำเปล่า 6 ส่วน) แค่นี้ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนเนื้อของลูกประคำดีควายสามารถนำมาผสมกับน้ำและคั้นเอาสารสกัดได้อีก 2 ครั้ง[10]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะคำดีควาย
- การรับประทานผลจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องร่วง ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้[3]
- หากผงซึ่งมีสารซาโปนินอยู่เข้าทางจมูก จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้จามได้ ถ้าหากฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก[3]
- การใช้ผลเพื่อสระผม เพื่อรักษาชันนะตุ รังแค เชื้อรา ในขณะสระต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรใช้ในปริมาณมากหรือใช้บ่อยจนเกินไป หากใช้แล้วให้ล้างออกให้หมด มิฉะนั้นอาจทำให้ผมร่วงได้ และเมื่อใช้รักษาจนหายแล้วก็ให้เลิกใช้[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ประคำดีควาย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 445-446.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประคําดีควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 เม.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะคําดีควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 เม.ย. 2014].
- ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.
- หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะคําดีควาย”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 218.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะคำดีควาย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 151.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะคำดีควาย Soapberry”. หน้า 183.
- หนังสือสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. (ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ และศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์). “มะคําดีควาย”.
- ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “อาจารย์ มมส เผยงานวิจัย… ใช้ประคำดีควายกำจัดหอยเชอรี่ได้ผล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/index.php. [18 เม.ย. 2014]
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mamatha Rao, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)