มะขาม
มะขาม ชื่อสามัญ Tamarind
มะขาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
มะขามจัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีฟแอฟริกาและมีการนำเข้ามาปลูกในแถบเอเชีย นอกจากนี้มะขามยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และตามตำราพรหมชาติยังถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันสิ่งเลวร้าย ผีร้ายต่าง ๆ ไม่ให้มากล้ำกราย อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อมงคล ถือกันเป็นเคล็ดทำให้มีคนเกรงขาม
สำหรับประโยชน์ของมะขามและสรรพคุณมะขามนั้นมีมากมาย จัดว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและยังมีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาจะเป็นเนื้อฝักแก่ (มะขามเปียก) เปลือกของลำต้น (ทั้งสดและแห้ง) และเนื้อในเมล็ด สามารถช่วยรักษาได้หลายโรค เช่น เป็นยาขับเสมหะ แก้อาการท้องเดิน บรรเทาอาการท้องผูก ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นต้น
มะขามยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างวิตามินซี วิตามินบี 2 วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น มะขามที่แก่จัดนั้นเราจะเรียกว่า “มะขามเปียก” โดยมะขามหวาน 100 กรัม จะมีแคลอรีเท่ากับ 314 แคลอรี
ประโยชน์ของมะขาม
- มะขามช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกายด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสด้วยวิตามินซีจากมะขาม
- ช่วยในการชะลอวัยและการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
- แคลเซียมจากมะขามจะช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- มะขามมีธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือด
- ใช้ในการทำทรีตเม้นต์ด้วยการนำมาขัดตามซอกขาหนีบ รักแร้ ข้อพับ ซึ่งจะช่วยลดรอยคล้ำลงได้
- นำมะขามเปียกไปแช่น้ำ ลอกเอาใยออก นำมะขามมาถูตัวเบา ๆ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นตลอดทั้งวัน และช่วยกำจัดแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
- มะขามเปียกและดินสอพองผสมจนเข้ากัน นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยให้ผิวหน้าดูกระชับสดใสและสะอาดยิ่งขึ้น
- มะขามเปียกผสมกับน้ำอุ่นและนมสด ใช้พอกผิว ช่วยให้ผิวหนังที่มีรอยดำคล้ำกลับมาขาวสดใส นุ่มนวลยิ่งขึ้น
- นำมาใช้เป็นส่วนผสมหรือใช้ทำเป็นกรดผลไม้ (AHA)
- สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ให้นำเนื้อมะขามมาขัดถูฟันเป็นประจำทุกครั้งที่แปรงฟัน จะช่วยขจัดคราบสกปรกบริเวณฟันลงได้
- สามารถนำมาใช้ทำยานวดผม ซึ่งช่วยรักษารากผม ฆ่าเชื้อราบนหนังศีรษะ และช่วยฆ่าเหาได้อีกด้วย ด้วยการนำมะขามเปียกมาผสมกับน้ำแล้วใช้มือคั้นเนื้อมะขามเพื่อให้ละลายออกมาผสมกับน้ำ น้ำที่ได้นั้นจะมีลักษณะเหลว (ไม่ควรเหลวมาก) แล้วนำมานวดศีรษะหลังจากที่สระผมเสร็จแล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก
- ใช้ทำเป็นน้ำยาอาบน้ำ ด้วยการนำใบมะขามมาจำนวนหนึ่ง ใส่ใบมะขามลงในน้ำเดือดแล้วปิดฝา แล้วเคี่ยวประมาณ 30 นาที จากนั้นนำลงจากเตาปล่อยให้เย็นแล้วนำมาอาบ จะช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้น รักษาผดผื่นคันตามร่างกายและผิวหนังได้
- การแปรรูปมะขาม สามารถนำมาแปรรูปได้หลายชนิด เช่น มะขามแก้ว มะขามกวน มะขามอบไร้เมล็ด มะขามบ๊วย มะขามแช่อิ่ม มะขามคลุก มะขามจี๊ดจ๊าด เป็นต้น
- ช่วยป้องกันการเกิดและช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
- มะขามมีวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา
- ช่วยลดความร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- แก้อาการท้องผูกด้วยการใช้เนื้อมะขามเปียกประมาณ 15 ฝัก นำมาจิ้มกับเกลือแล้วรับประทาน หรือใส่เกลือเติมน้ำแล้วคั้นเป็นน้ำดื่ม
- แก้อาการท้องเดินด้วยการใช้เปลือกต้นประมาณ 2 กำมือ นำมาต้มกับน้ำปูนใสหรือน้ำแล้วนำมารับประทาน
- ช่วยถ่ายพยาธิตัวกลมในลำไส้ พยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้เมล็ดมะขามมาคั่ว กะเทาะเปลือกออก นำเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำเกลือจนนิ่ม แล้วรับประทานครั้งละ 20 เม็ด
- ช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ ด้วยการนำมะขามเปียกมาจิ้มเกลือแล้วรับประทาน
- มะขามอุดมไปด้วยกรดอินทรีย์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยชำระล้างความสกปรกในรูขุมขนและขจัดคราบมันบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี
- รากมะขามมีส่วนช่วยแก้อาการท้องร่วง
- รากมะขามช่วยในการสมานแผล
- รากมะขามช่วยในการรักษาโรคเริม
- รากมะขามช่วยในการรักษาโรคงูสวัด
- เปลือกลำต้นมะขามช่วยแก้ไขตัวร้อน
- แก่นของต้นมะขามช่วยรักษาฝีในมดลูก
- แก่นของต้นมะขามช่วยในการขับโลหิต
- แก่นมะขามมีส่วนช่วยเป็นยาชักมดลูกให้เข้าอู่
- ใบสดมะขามใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ขับลมในลำไส้
- ใบสดมะขามช่วยรักษาหวัด อาการไอ
- ใบสดมะขามมีส่วนช่วยในการรักษาโรคบิด
- ใบสดมะขามมีคุณสมบัติใช้เป็นยาหยอดตา รักษาเยื่อตาอักเสบ แก้อาการตามัว
- ใบสดมะขามมีคุณสมบัติในการช่วยฟอกโลหิต
- ใบสดนำมาต้มผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ใช้อาบหลังคลอด
- เนื้อหุ้มเมล็ดของมะขามใช้เป็นยาสวนล้างท้อง
- ฝักดิบของมะขามใช้ในการฟอกโลหิต
- ฝักดิบของมะขามใช้ในการลดความอ้วน เป็นยาระบาย ลดอุณหภูมิในร่างกาย
- เปลือกมะขามช่วยรักษาแผลสด แผลไฟลวก แผลเบาหวาน ถอนพิษ
- เปลือกเมล็ดมะขามช่วยสมานแผลที่ช่องปาก คอ ลิ้น และตามร่างกาย
- ดอกสดของมะขามใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง
คุณค่าทางโภชนาการของมะขามดิบต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 239 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 62.5 กรัม
- น้ำตาล 57.4 กรัม
- เส้นใย 5.1 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- โปรตีน 2.8 กรัม
- วิตามินบี 1 0.428 มิลลิกรัม 37%
- วิตามินบี 2 0.152 มิลลิกรัม 13%
- วิตามินบี 3 1.938 มิลลิกรัม 13%
- วิตามินบี 5 0.143 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 6 0.066 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
- โคลีน 8.6 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 3.5 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินอี 0.1 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 2.8 ไมโครกรัม 3%
- ธาตุแคลเซียม 74 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุเหล็ก 2.8 มิลลิกรัม 22%
- ธาตุแมกนีเซียม 92 มิลลิกรัม 26%
- ธาตุฟอสฟอรัส 113 มิลลิกรัม 16%
- ธาตุโพแทสเซียม 628 มิลลิกรัม 13%
- ธาตุโซเดียม 28 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), เว็บไซต์สรรพคุณสมุนไพร (www.rspg.or.th), USDA Nutrient database
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)