มะกอกฝรั่ง
มะกอกฝรั่ง ชื่อสามัญ Jew’s plum, Otatheite apple[1], Golden apple, Jew plum[4]
มะกอกฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias dulcis Parkinson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Evia dulcis (Parkinson) Comm. ex Blume, Poupartia dulcis (Parkinson) Blume, Spondias cytherea Sonn.) จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1],[2],[4]
มะกอกฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะกอก มะกอกหวาน (ภาคกลาง), มะกอกดง, มะกอกเทศ เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของมะกอกฝรั่ง
- ต้นมะกอกฝรั่ง จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 7-12 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง[1] ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง[2]
- ใบมะกอกฝรั่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบยาว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ค่อนข้างเรียวแหลม ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย[1]
- ดอกมะกอกฝรั่ง ออกดอกเป็นช่อแบบพานิเคิล (ช่อดอกที่มีช่อดอกแตกออกมาจากช่อดอกใหญ่อีกทีหนึ่ง) โดยจะออกตามปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ฐานรองดอกเป็นสีเหลือง[1]
- ผลมะกอกฝรั่ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือรูปกระสวย มียางคล้ายไรไข่ปลา ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวอมเหลือง สุกแล้วเป็นสีส้ม เนื้อในเป็นสีขาวอมเขียว รสเปรี้ยวอมหวานมันและกรอบอร่อย ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งและมีขนแข็ง ๆ อยู่ที่เปลือกหุ้มเมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของมะกอกฝรั่ง
- เนื้อผลมีรสเปรี้ยวฝาด หวานชุ่มคอ เป็นยาช่วยบำบัดโรคธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ (เนื้อผล)[1]
- ผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด[4]
- ผลช่วยลดไขมันในเส้นเลือด[4]
- ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน ใช้รับประทานแก้กระหายน้ำได้ดี และช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผล)[1]
- เปลือกมีรสฝาด เย็นเปรี้ยว เป็นยาแก้ร้อนในอย่างแรง (เปลือก)[1]
- ช่วยดับพิษกาฬ (เปลือก)[1]
- เมล็ดมะกอกเมื่อนำไปสุมไฟให้เป็นถ่าน แล้วนำมาแช่กับน้ำ ใช้ดื่มกินแก้ร้อนในได้ (เมล็ด)[1]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาหยอดหู แก้อาการปวดหูได้ดี (ใบ)[1]
- เมล็ดมะกอกเมื่อนำไปสุมไฟให้เป็นถ่านแล้วนำมาแช่กับน้ำ ใช้ดื่มแก้หอบ แก้สะอึกได้ดีมาก (เมล็ด)[1] ส่วนเปลือกก็มีสรรพคุณแก้สะอึก (เปลือก)[1]
- ช่วยแก้โรคบิด (เนื้อผล)[1]
- ช่วยแก้ลงท้องปวดมวน (เปลือก)[1]
- ผลเป็นยาระบาย[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกอกฝรั่ง
- สารสำคัญที่พบคือสาร β-caryophyllne, hexadecanoic acid, 3-hexenol, α-terpineol, α-selinene[4]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มะกอกฝรั่งมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดการหดเกร็งของลำไส้[4]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดจากผลมะกอกฝรั่งด้วย 95% เอทานอล เมื่อนำมาให้สัตว์ทดลองกินในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ[4]
- เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศสเปน ได้ทำการศึกษาทดลองและพบว่าน้ำมันมะกอกฝรั่ง สามารถช่วยลด LDL-C ในเลือดได้ และพบว่าสาร linoleic acid 8% ทำการศึกษาทดลองในอาสาสมัครเพศหญิงที่หมดประจำเดือนจำนวน 14 ราย ที่กระตุ้นให้บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง 46% ใช้เวลาทดลอง 28 วัน อายุเฉลี่ยน้อยกว่า 65 ปี และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทำการทดลองให้รับประทานน้ำมันมะกอกฝรั่งผสมกับน้ำมันดอกทานตะวัน คิดเป็น 62% ของอาหารที่บริโภค ภายหลังการทดลอง 28 วัน พบว่ากลุ่มที่ให้น้ำมันมะกอกฝรั่งผสมกับน้ำมันดอกทานตะวัน สามารถลดไขมันในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05[4]
- เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศตูนีเซีย ได้ทำการศึกษาทดลองและพบว่าสารที่สกัดได้จากมะกอกฝรั่ง คือ phenolic-rich และ hydroxytyrosol โดยทำการศึกษาทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้อ้วน การศึกษาทดลองใช้เวลานาน 16 สัปดาห์ โดยนำสารดังกล่าวมาให้หนูในขนาด 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู พบว่าระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนอีกกลุ่มให้สารในขนาดสูงคือ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู ซึ่งพบว่าให้ผลเช่นเดียวกันและมีผลในการลดไขมันในตับด้วย[4]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศตูนีเซีย ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของมะกอกฝรั่ง โดยทำการทดลองกับหนูทดลอง (Wistar rat) นานถึง 16 สัปดาห์ พบสารที่เป็นตัวลดไขมันคือ Oleuropein, Oleuropein aglycon และ hydroxytyrosol ภายหลังการทดลองพบว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[4]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาทดลองผลของใบมะกอกฝรั่งในการลดไขมัน จากการทดลองพบว่ามีสาร hydroxytyrosol และ triacctylated hydroxytyrosol เป็นตัวลดไขมัน ทำการทดลองในหนู (Wistar rat) โดยกระตุ้นให้หนูอ้วนมีไขมันสูง ทำการทดลองเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ให้สารดังกล่าวในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวหนู พบว่าระดับไขมันในเลือดหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[4]
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเยอรมัน ได้ทำการศึกษาทดลองผลของสารสกัดจากใบมะกอกฝรั่ง ในการลดความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองกับหนูจำนวน 40 ตัวที่ถูกกระตุ้นให้อ้วนและมีความดันโลหิตสูง โดยให้สารสกัดจากใบมะกอกฝรั่งในขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่าความดันโลหิตของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับคอเลสเตอรอลก็ลดลงด้วย[4]
ประโยชน์ของมะกอกฝรั่ง
- ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้ ใช้ปรุงอาหาร หรือคั้นน้ำจากผลมาทำเครื่องดื่มสมุนไพร[1],[4] ผลมีรสเปรี้ยวปนหวานมันและกรอบอร่อยมาก ในบ้านเรานิยมนำมาจิ้มกับพริกเกลือป่น หรือสับราดน้ำจิ้มรสเผ็ด อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปทำน้ำผลได้ด้วย เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ[2]
- ส่วนในต่างเทศ ชาติตะวันตกจะใช้ใบอ่อนทำเป็น PEPES ประเทศฟิจิใช้ทำแยม ในซามัวและตองกาใช้ทำ otai ส่วนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย นำมาจิ้มกับกะปิ สับยำใส่เครื่องปรุงพื้นเมือง หรือใช้เป็นส่วนผสมในโรยัก (อาหารพื้นเมืองของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีลักษณะคล้ายกับยำผลไม้หรือส้มตำผลไม้) และในจาเมกาจะรับประทานผลสดโดยนำไปคลุกกับเกลือหรือทำเป็นน้ำผลไม้เติมน้ำตาลและขิง เป็นต้น[2]
- ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้[1]
- ปัจจุบันนิยมปลูกไว้ในสวน เพราะมีการปรับปรุงสายพันธุ์ออกมาให้เป็นพันธุ์เตี้ยที่มีความสูงของต้นเพียง 1 เมตร และยังให้ผลดกอีกด้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะกอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 พ.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. “มะกอกฝรั่ง มีต้นขายผลสดอร่อย”. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [15 พ.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องมะกอก”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [15 พ.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “มะกอกฝรั่ง”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 135-136.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nor Aini Ibrahim, Amal Hayati Zainal, Prof Dr Kamarudin Mat-Salleh, Christian TESSIER, Nor Aini Ibrahim, Siti Mariam Binti Othman, Edgie168, 3Point141)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)