16 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะกล่ำเผือก !

16 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะกล่ำเผือก !

มะกล่ำเผือก

มะกล่ำเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Abrus pulchellus Thwaites (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abrus fruticulosus auct. non Wight & Arn., Abrus pulchellus subsp. pulchellus) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3],[5]

สมุนไพรมะกล่ำเผือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะกล่ำตาหนู แปบฝาง (เชียงใหม่), คอกิ่ว มะขามป่า (จันทบุรี), มะขามย่าน (ตรัง), โกยกุกเช่า (จีนแต้จิ๋ว), จีกู่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของมะกล่ำเผือก

  • ต้นมะกล่ำเผือก จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นหรือเลื้อยบนพื้นดิน ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมากเป็นพุ่มทึบ สีน้ำตาลเข้มอมสีม่วงแดง ก้านเล็กปกคลุมด้วยขนสีเหลืองบาง ๆ เถามีลักษณะกลมเป็นสีเขียว รากมีลักษณะกลมใหญ่ ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน ภูฏาน เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย โดยมักขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งระดับต่ำ[1],[2],[3],[5]

ต้นมะกล่ำเผือก

  • ใบมะกล่ำเผือก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งหนามหรือมน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 3.2-4.5 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสีขาวประปราย ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น เส้นกลางใบนูนขึ้นเล็กน้อย หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร หูใบย่อยเป็นเส้นเรียวยาว ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[5]

ใบมะกล่ำเผือก

  • ดอกมะกล่ำเผือก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวปนสีชมพูอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายเว้าเป็นรอยหยักตื้น ๆ หรือเป็นปลายตัด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบกลางเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร ปลายเว้าบุ๋ม โคนเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบ ส่วนกลีบคู่ด้านข้างเป็นสีชมพูอ่อน ลักษณะเป็นรูปเคียว มีความยาวรวมก้านกลีบประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร ปลายมน โคนสอบเรียว คอดลงไปคล้ายก้านกลีบ มีรยางค์เป็นติ่ง ส่วนกลีบคู่ล่างเป็นสีชมพู โคนเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปเคียว ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร ปลายมน โคนสอบเรียว คลอดลงไปคล้ายก้านกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีแบบสั้นและแบบยาวออกเรียงสลับกัน แบบสั้นก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนแบบยาวก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร อับเรณูเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ติดทางด้านหลัง ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ แบน และมีขนขึ้นหนาแน่น[1],[3],[5]

รูปมะกล่ำเผือก

ดอกมะกล่ำเผือก

  • ผลมะกล่ำเผือก ออกผลเป็นฝักรูปขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร มีขนสีเหลืองอ่อน ฝักแห้งแตกออกได้ ในฝักมีเมล็ดประมาณ 4-5 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมรี แบนเล็กน้อย ผิวเงาเรียบ เมล็ดอ่อนเป็นสีขาว เมื่อสุกเป็นสีดำเข้มหรือสีเหลืองอ่อน[1],[3],[5]

ผลมะกล่ำเผือก

เมล็ดมะกล่ำเผือก

สรรพคุณของมะกล่ำเผือก

  1. ทั้งต้นมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาเย็นเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้อาการร้อนใน แก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
  2. เถาและรากมีรสเปรี้ยวหวานชุ่ม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หืด หลอดลมอักเสบ แก้ไอแห้ง แก้เจ็บคอ ช่วยกัดเสมหะ ขับเสมหะ แก้อาเจียน แก้ร้อนใน (เถาและราก)[4]
  3. ใบมีรสเปรี้ยวหาน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ช่วยกระตุ้นน้ำลาย (ใบ)[4]
  4. ทั้งต้นหรือเครือ นำไปต้มกับน้ำดื่มช่วยลดความดันโลหิต (ทั้งต้น)[4]
  1. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องและแก้จุกเสียด (ราก)[1]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ (ทั้งต้น)[3]
  3. ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ, เถาและราก)[4]
  4. ใช้เป็นยากล่อมตับ ใช้รักษาตับอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ตับแข็ง ท้องมาน ช่วยคลายและกระจายการคั่งของตับ รักษาตับอักเสบที่ติดเชื้อแบบดีซ่าน ตำรายาแก้การติดเชื้อของตับอักเสบชนิดเฉียบพลันแบบดีซ่าน ให้ใช้ต้นสดของมะกล่ำเผือก 30 กรัม, ต้นยินเฉิน 30 กรัม, ตี้เอ๋อเฉ่า 30 กรัม, ซานจีจื่อ (เมล็ดพุดตานแห้ง) 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน และถ้ามีอาการตัวร้อนและอักเสบ ก็ให้เพิ่มต้นหมากดิบน้ำค้าง 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมาต้มรวมกันรับประทาน (ทั้งต้น)[3]
  5. ใบใช้ตำพอกแก้อักเสบ ปวดบวม (ใบ)[4]
  6. เมล็ดมีรสขมเผ็ดเมาเบื่อ เป็นพิษ ใช้ได้เฉพาะภายนอก ด้วยการนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฝีมีหนอง บวมอักเสบ (เมล็ด)[4]
  7. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษงู (ทั้งต้น)[3]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาขับความชื้น แก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นเกาะติด (ทั้งต้น)[3]
  9. ใบมีสรรพคุณแก้อาการปวดตามแนวประสาท ปวดบวมตามข้อ (ใบ)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนยาสดให้ใช้ภายนอก ประมาณ 30-60 กรัม หรือตามที่ต้องการ ห้ามใช้เมล็ดรับประทานเพราะมีพิษ ก่อนใช้จะต้องเอาเมล็ดออกให้หมดก่อน[3]

ข้อควรระวัง : เมล็ดมะกล่ำเผือกมีพิษเหมือนเมล็ดมะกล่ำตาหนู ทำให้ตายได้[1] เมล็ดใช้เป็นยารับประทานไม่ได้ ให้ใช้เฉพาะภายนอก ต้องระมัดระวังในการใช้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะกล่ำเผือก

เมล็ดมะกล่ำเผือก

  • ในใบพบสารรสหวานชื่อ Glycyrrhizin, Abrine และสาร Choline อีกทั้งยังพบสารจำพวก Flavonoid, Amino acid และมีกลูโคสกลูโคลิน รวมทั้งมีสารจำพวก Sterol อีกด้วย[3]

ประโยชน์ของมะกล่ำเผือก

  1. ใบใช้ตำพอกแก้จุดด่างดำบนใบหน้า (ใบ)[4]
  2. เมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลง มีพิษแรง ถ้าเคี้ยวกินเพียง 1-2 เมล็ด อาจทำให้ตายได้ โดยสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 2 วัน[4]
  3. ใบมะกล่ำเผือกมีสารให้ความหวานชื่อ glycyrrhizin ซึ่งมีความหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50 เท่า ซึ่งอาจนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาลทรายได้[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “มะกล่ำเผือก”.  หน้า 145.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “มะกล่ำเผือก”.  หน้า 30.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “มะกล่ำเผือก”.  หน้า 422.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “มะกล่ำเผือก”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [05 พ.ย. 2014].
  5. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะกล่ำเผือก”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [05 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, Apurba Kumar), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด