ฟักแม้ว
ฟักแม้ว หรือ มะระหวาน ภาษาอังกฤษ ชาโยเต้ (Chayote)
ฟักแม้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sechium edule (Jacq) Swartz. จัดเป็นไม้เถาที่อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE
ฟักแม้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะระแม้ว มะระหวาน มะเขือเครือ มะเขือฝรั่ง มะระญี่ปุ่น ฟักญี่ปุ่น มะเขือนายก บ่าเขือเครือ ฟักม้ง แตงกะเหรี่ยง เป็นต้น
ลักษณะของฟักแม้ว
- ต้นฟักแม้ว หรือ ต้นมะระหวาน มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกและแถบอเมริกากลาง ซึ่งในปัจจุบันมีการเพาะปลูกอยู่ทั่วโลก โดยสันนิษฐานกันว่ามีการนำเข้ามาปลูกในไทยโดยหมอสอนศาสนา และให้ชาวบ้านปลูกครั้งแรกที่จังหวัดแพร่ แต่ในปัจจุบันจะเพาะปลูกฟักแม้วกันมากในจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และจังหวัดทางภาคเหนืออย่างเชียงราย โดยจัดเป็นเถาไม้เลื้อย ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับพืชที่อยู่ในตระกูลแตง แต่มีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะของลำต้น ใบ ยอด และมือจับ คล้ายต้นแตงกวาผสมฟักเขียว มีระบบรากสะสมขนาดใหญ่ ลำต้นฟักแม้วมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เจริญเป็นเถา มีความยาวประมาณ 15-30 ฟุต มีเถาแขนง 3-5 เถา มีมือเกาะเจริญที่ข้อ
- ใบฟักแม้ว หรือ ใบมะระหวาน ขอบใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยม 3-5 เหลี่ยม มีความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายใบตำลึงแต่มีขนาดใหญ่กว่า ใบมีขนระคายทั้งด้านบนและด้านล่าง
- ดอกฟักแม้ว หรือ ดอกมะระหวาน มีสีขาวปนเขียว ดอกจะเกิดตามข้อระหว่างต้นกับก้านใบ ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นประเภทไม่สมบูรณ์เพศ หรือดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน
- ผลฟักแม้ว หรือ ผลมะระหวาน เป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นทรงกลมยาว ผลมีสีเขียวอ่อน รูปร่างคล้ายลูกแพร์ ผลมีความยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร หนึ่งผลมีน้ำหนักราว 200-400 กรัม รสเย็น เนื้อผลมีรสหวาน รสคล้ายกับฝรั่งปนแตงกวา
สรรพคุณของฟักแม้ว
- ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน (ผล, ใบ)
- น้ำต้มใบและผลนำมาใช้ในการรักษาอาการเส้นเลือดแข็งตัวได้ (ผล, ใบ)
- มะระหวานช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบฟักแม้ว (ผล, ใบ)
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล, ใบ)
- ยอดฟักแม้วช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวกขึ้น จึงป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี (ใบ)
- ผลและใบฟักแม้วนำมาใช้ดองเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ผล, ใบ)
- น้ำต้มใบและผลฟักแม้วช่วยสลายนิ่วในไต (ผล, ใบ)
- ช่วยแก้อาการอักเสบด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน (ผล, ใบ)
ประโยชน์ของฟักแม้ว
- ฟักแม้วเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้
- ผลฟักแม้วมีโฟเลตสูง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับทารกในครรภ์ เพราะช่วยป้องกันการพิการของทารกแต่กำเนิด (ผล)
- ยอดอ่อนและผลอ่อนสามารถใช้รับประทานได้ แถมยังประกอบไปด้วยวิตามินและกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เช่น แคลเซียมที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- ผลสามารถนำมาหั่นเป็นฝอยหรือสไลซ์เป็นแผ่นใช้ผัดกับไข่ได้ หรือใช้ผัดกับน้ำมัน หรือจะนำมาตำส้มตำใช้แทนมะละกอได้ เพราะมีเนื้อกรอบหวาน
- เมนูฟักแม้ว ยอดอ่อนฟักแม้วสามารถนำมาต้มกินกับน้ำพริก ใช้ทำต้มจืด แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดกับหมู ผัดน้ำมันหอย ลาบ ยำยอดฟักแม้ว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาผัดน้ำมันหอย
- รากฟักแม้วส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วยแป้ง สามารถนำมาใช้ต้มหรือผัดเพื่อรับประทานได้
- ปกติแล้วจะนิยมใช้ส่วนของผล ใบ และรากเพื่อประกอบอาหาร แต่ลำต้นและเมล็ดก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยม
- รากฟักแม้วสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
คุณค่าทางโภชนาการของผลฟักแม้ว ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4.51 กรัม
- เส้นใย 1.7 กรัม
- ไขมัน 0.13 กรัม
- โปรตีน 0.82 กรัม
- วิตามินบี 1 0.025 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 2 0.029 มิลลิกรัม. 2%
- วิตามินบี 3 0.47 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 5 0.249 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 6 0.076 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 9 93 ไมโครกรัม 23%
- วิตามินซี 7.7 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินอี 0.12 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 4.1 ไมโครกรัม 4%
- ธาตุแคลเซียม 17 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.34 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 125 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุสังกะสี 0.74 มิลลิกรัม 8%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by xaviergardens, judymonkey17, Starr Environmental)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)