7 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพู่ระหง ! (พู่ระหงส์, พู่เรือหงส์)

7 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพู่ระหง ! (พู่ระหงส์, พู่เรือหงส์)

พู่ระหง

พู่ระหง ชื่อสามัญ Fringed hibiscus, Coral Hibiscus, Japanese Lantern, Spider gumamela ส่วนที่มาเลเซียเรียกว่า Bunga Raya[1],[2],[3],[6]

พู่ระหง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus schizopetalus (Dyer) Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1]

สมุนไพรพู่ระหง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ชุบบาห้อย (ปัตตานี), พู่ระหง (กรุงเทพฯ), หางหงส์ (พายัพ), พู่ระโหง พู่เรือหงส์ หางหงส์ (ภาคกลาง) เป็นต้น[1] แต่เดิมเราจะเรียกว่า “พู่เรือหงส์” ส่วนสาเหตุที่พรรณไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “พู่ระหง” คงเป็นเพราะมีกิ่งก้านเก้งก้าง สูงโปร่ง ลักษณะคล้ายกับทรวดทรงของสาวน้อยที่มีรูปร่างผอมสูงและบอบบาง[2]

ทั้งนี้ พู่ระหงเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย แต่ในประเทศมาเลเซียจะเรียกต้นพู่ระหงว่า “บุหงารายอ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ดอกชบาสีแดง” และเหตุที่ถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซียก็เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ เพราะเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม[2]

ลักษณะของพู่ระหง

  • ต้นพู่ระหง มีข้อสันนิษฐานว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามาก ออกรอบ ๆ ต้น และมักโค้งลงสู่พื้นดิน เปลือกต้นเป็นสีเหลือง เปลือกลำต้นและใบมียางเหนียว กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่ปลูกง่าย มีความแข็งแรง ทนทาน โตเร็ว ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบแสงแดดจัด และต้องการน้ำพอประมาณ พรรณไม้ชนิดนี้นำมาจากทางแถบร้อน เช่น ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย[1],[3],[4]

ต้นพู่ระหง

  • ใบพู่ระหง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับไปตามกิ่งก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมมีติ่งหาง โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางสีเขียวเป็นมัน ก้านใบเป็นสีเขียว[1],[3],[4]

ใบพู่ระหง

  • ดอกพู่ระหง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามส่วนยอดของปลายกิ่งครั้งละหลายดอก แต่จะทยอยกันบาน ดอกเป็นสีแดงสด หรือดอกมีหลายสี (แดง ส้ม ชมพู) มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบแคบ ขอบกลีบดอกหยักเว้าลึกเป็นแฉก ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านดอกสีเขียว ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้เป็นสีเหลือง ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย อับเรณูติดที่บริเวณปลายดอก เกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โผล่พ้นเกสรเพศผู้ (ตรงกลางดอกมีก้านเกสรชูก้านยาวพ้นออกมาจากดอก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ส่วนปลายมีแขนงเกสรเพศผู้แผ่ออกไปโดยรอบ) ดอกห้อยคว่ำลงพื้น มีส่วนก้านเกสรห้อยลงต่ำสุด ลักษณะคล้ายพู่เรือหงส์สมดั่งชื่อ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4-5 นิ้ว สามารถออกได้ตลอดปี[1],[3],[4]

ดอกพู่ระหง

พู่เรือหงส์

  • ผลพู่ระหง ผลเป็นผลแห้งมีจะงอย เมื่อแก่จะแตก มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร[6]

สรรพคุณของพู่ระหง

  • ใบและรากพู่ระหงใช้เป็นยารักษาอาการไข้ในเด็ก (ใบและราก)[1]
  • ใบและรากใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอ และอาการไอ (ใบและราก)[1]

ประโยชน์ของพู่ระหง

  1. คนไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกพู่ระหงมาใช้สระผม เช่นเดียวกับการใช้ดอกอัญชันและผลมะกรูดย่างไฟ โดยเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำ ผมไม่ร่วงและแตกปลาย[4]
  2. รากของต้นพู่ระหงนิยมนำมาเผาไฟใช้ในการทำน้ำตาลเมาหรือเหล้า โดยเชื่อว่าจะได้น้ำตาลเมาหรือเหล้าที่มีคุณภาพสูงและแรงขึ้น[4]
  3. ต้นพู่ระหงเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการปลูกของชาวไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย ตัดได้ทรงพุ่มได้ สามารถให้ดอกงดงามได้ตลอดทั้งปี[2] นิยมนำมาปลูกตามมุม ขอบแนวอาคาร แนวรั้วหรือริมกำแพง ปลูกเป็นฉากหลัง ริมถนน ทางเดิน สระว่ายน้ำ ปลูกริมทะเล ริมน้ำตก หรือปลูกประดับในสวน โดยนำมาปลูกเป็นต้นเดี่ยว ๆ เพื่อโชว์กิ่งและดอกที่พลิ้วไหว ให้ความรู้สึกพลิ้วเบาแบบสบาย ๆ หรือปลูกเป็นกลุ่มหลาย ๆ ต้น เป็นแปลงยาว หรือปลูกเป็นรั้ว จะให้ความรู้สึกเป็นแนวบังสายตาสีเขียวที่แข็งแรง[3],[6]
  4. ในด้านของความเชื่อ ชาวไทยถือว่าต้นพู่ระหงเป็นไม้มงคลเรือสุพรรณหงส์ เพราะดอกมีพู่เหมือนกับเรือสุพรรณหงส์ หากบ้านใดปลูกต้นพู่ระหงเป็นรั้วบ้าน เชื่อว่าจะประสบแต่สิ่งที่เป็นมงคล และมีฐานะดีเป็นเศรษฐีได้[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า หากบ้านใดปลูกต้นพู่ระหงไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีน้ำใจและมีจิตใจที่สูงส่ง เนื่องจากลักษณะของดอกพู่ระหงที่เมื่อบานแล้วจะบ่งบอกกิริยาที่หวานเย็น เบิกบาน แสดงถึงความยินดีมีน้ำใจ และยังเชื่อว่าพู่ระหงเป็นของสูงค่าเปรียบเหมือนพู่ของเรือสุพรรณหงส์ (เครื่องประดับส่วนหัวของเรือ) ที่ใช้ในพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์ ซึ่งแสดงถึงคุณค่าอันสูงส่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย
  5. คนไทยโบราณจะปลูกต้นพู่เรือหงส์ไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ)[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พู่ระหง”.  หน้า 568-569.
  2. ข่าวสดรายวัน.  “พู่ระหง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.khaosod.co.th.  [22 ส.ค. 2014].
  3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (ไพร มัทธวรัตน์).  “พู่ระหง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th.  [22 ส.ค. 2014].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 314 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “พู่ระหง :ดอกไม้แห่งศักดิ์ศรีจากพญาหงส์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [22 ส.ค. 2014].
  5. ไม้ประดับออนไลน์.  “พู่ระหงส์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.maipradabonline.com.  [22 ส.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “พู่ระหงส์”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [22 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Christian Defferrard, Zaqqy, guzhengman, vanpics), Lerdsuwa

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด