พุทธรักษากินหัว
พุทธรักษากินหัว ชื่อสามัญ Australian arrowroot [2]
พุทธรักษากินหัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Canna indica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Canna edulis Ker Gawl.) จัดอยู่ในวงศ์ CANNACEAE[1]
สมุนไพรพุทธรักษากินหัว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หน้วยละ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ก่อบลังเจ้ะ (ม้ง), ฝรังโห (เมี่ยน), สาคู เป็นต้น[2]
ลักษณะของพุทธรักษากินหัว
- ต้นจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี ลำต้นบนดินมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1.5-2.5 เมตร ส่วนลำต้นที่อยู่ใต้ดินมีลักษณะเป็นเหง้าทอดแผ่ แตกแขนง ปล้องสั้นเป็นรูปทรงกระบอก[1]
- ใบพุทธรักษากินหัว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 35-60 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นสีม่วงเข้ม กาบใบมีแถบสีม่วงเข้ม[1]
- ดอกพุทธรักษากินหัว ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีหลายดอก กลีบดอกเป็นสีส้มแดง มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกสีแดงสด[1]
- ผลพุทธรักษากินหัว ผลเป็นผลแห้งและแตกได้เป็นพู 3 พู ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล ผิวเมล็ดมัน[1]
สรรพคุณของพุทธรักษากินหัว
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เหง้าสดซึ่งมีรสขมมาก ขนาดยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กินเป็นยาแก้อาการปวดมวนท้อง (เหง้าสด)[1]
ประโยชน์ของพุทธรักษากินหัว
- ชาวม้งจะใช้หัวที่อยู่ใต้ดินของต้นพุทธรักษากินหัว นำมาต้มหรือนึ่งรับประทาน ส่วนชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้หัวนำมาต้มรับประทาน โดยต้มกับน้ำตาลทำเป็นของหวาน[2]
- ชาวเมี่ยนจะใช้หัวใต้ดินนำมานึ่งแล้วใช้ผสมกับแป้งทำขนม จะช่วยทำให้แป้งไม่ติดใบตอง[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พุทธรักษากินหัว”. หน้า 58.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พุทธรักษากินหัว, สาคู”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Don Perucho, CANTIQ UNIQUE, Glenn, cpmkutty, FarOutFlora, sword lilly)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)