พุดจีบ
พุดจีบ ชื่อสามัญ Crepe jasmine, Clavel De La India, East Indian rosebay, Pinwheel flower[2]
พุดจีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1]
สมุนไพรพุดจีบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พุดป่า (ลำปาง), พุดซ้อน พุดลา พุดสา พุดสวน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของพุดจีบ
- ต้นพุดจีบ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าดิบทางภาคเหนือ[5] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร[1] บ้างว่าสูงได้ประมาณ 3-5 เมตร[2] ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย แต่มีการทิ้งใบในส่วนของต้นด้านล่าง จึงทำให้พุ่มดูโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องเล็ก ๆ และทุกส่วนของต้นจะมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การตอน และวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงปานกลาง[1],[2],[3]
- ใบพุดจีบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร หลังใบเรียบลื่นเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีอ่อนกว่า[1],[2]
- ดอกพุดจีบ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบ โดยจะออกดอกตามซอกใบใกล้กับปลายยอดหรือปลายกิ่ง ช่อละประมาณ 2-3 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5-10 แฉก และมีลักษณะเป็นคลื่นหมุนเวียนซ้อนกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นแฉกเรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ผลพุดจีบ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นฝักคู่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ฝักมีลักษณะโค้งยาว 2.5-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม ขอบฝักเป็นสันนูน เนื้อผลเป็นสีแดง เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็นแนวเดียว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-6 เมล็ด[2]
สรรรพคุณของพุดจีบ
- รากมีรสเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)[1],[7]
- กิ่งช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้กิ่ง 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (กิ่ง)[7]
- เนื้อไม้มีรสเฝื่อน เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาช่วยลดไข้ ลดพิษไข้ (เนื้อไม้)[1],[5],[7]
- ใบมีรสเฝื่อน นำมาตำกับน้ำตาลชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[1],[7]
- รากนำมาเคี้ยวช่วยแก้อาการปวดฟัน (ราก)[1],[3],[7]
- รากเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)[7]
- รากเป็นยาถ่าย (ราก)[7]
- ต้นมีรสเฝื่อน นำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ (ต้น) ส่วนรากก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ราก)[1]
- ดอกมีรสเฝื่อน คั้นเอาแต่น้ำทาแก้โรคผิวหนัง (ดอก)[1]
- รากเอามาฝนแล้วนำมาใช้ทาผิวบริเวณที่เป็นตุ่ม จะช่วยทำให้ตุ่มยุบเร็วขึ้น (ราก)[6] นอกจากนี้ในส่วนของรากยังมีข้อมูลที่ระบุด้วยว่ารากกับหัวมีรสขม ในทางอายุรเวทของอินเดียจะใช้เป็นยาแก้หิด แก้พยาธิไส้เดือน เพียงแต่ผู้เขียนยังหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมายืนยันไม่ได้
- รากช่วยระงับอาการปวด (ราก)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพุดจีบ
- สารสำคัญที่พบได้แก่ amyrin, ajmalicine, tryptamine, kaempferol, pericalline, voacamine, vasharine[7]
- มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา แก้อาการปวด ยับยั้งการหดเกร็งของมดลูกและลำไส้[7]
- สารสกัดจากต้นพุดจีบมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรสได้สูง (เอนไซม์ชนิดนี้จะฤทธิ์ไปทำลายสารอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ทำให้ลดน้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อม) จึงทำให้สารอะเซทิลโคลีนในระบบประสาทส่วนกลางคงเหลืออยู่มาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นและในระยะปานกลาง[4]
- เปลือก ต้น และรากมีสารอัลคาลอยด์ Coronarine[5]
- เมื่อปี ค.ศ. 2002 ประเทศเกาหลีได้ทำการศึกษาทดลองผลของสารสกัดพุดจีบในหนูทดลอง พบว่าสามารถช่วยยับยั้ง HMG Co A reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยไขมันในตับอ่อนได้ และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้[7]
- เมื่อปี ค.ศ. 2005 ประเทศเกาหลีได้ทำการศึกษาทดลองสารสกัดพุดจีบกับสมุนไพรอีกหลายชนิด ทำเป็นรูปแบบแคปซูล ซึ่งยาผสมดังกล่าวมีผลในการรักษาโรคหัวใจ ลดความดันโลหิตสูง และภาวะเส้นเลือดอุดตัน โดยยาดังกล่าวมีส่วนผสม 1-10% พุดจีบ, 1-10% โกโก้, 1-10% บัวหลวง, 1-10% ข้าวโพด, 1-10% Cyperus rotundu แล้วนำยาดังกล่าวมาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง พบว่าผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดลดลง[7]
- เมื่อปี ค.ศ. 2005 ประเทศเกาหลีได้ทำการศึกษาผลของสาร Crocin และ Crocetin ที่สกัดได้โดยใช้น้ำสกัด พบว่าสามารถช่วยยับยั้ง Pancreatic lipase เอนไซม์ในตับอ่อนของหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วนด้วยอาหารไขมันและคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าหนูทดลองดังกล่าวมีระดับคอเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง[7]
- เมื่อปี ค.ศ. 2006 ประเทศเกาหลีได้ทำการศึกษาทดลองใช้สารสกัดในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดในขนาด 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในหนูทดลองที่ถูกให้อาหารที่มีไขมันสูงจนอ้วน โดยให้ corn oil 1 กรัมต่อกิโลกรัม ผลการทดลองพบว่าสารสกัดของพุดจีบมีผลต้านอนุมูลอิสระและ Lipid peroxidation ทำให้ไขมันในเลือดลดลง[7]
- เมื่อปี ค.ศ. 2007 ประเทศเกาหลีได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือด โดยไปยับยั้ง Lipase เอนไซม์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความอ้วน ลดคอเลสเตอรอลในเลือด และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด[7]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากกิ่งแห้งด้วย 95% เอทานอลหรือสกัดด้วยน้ำเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรในขนาด 150 หรือ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าไม่เป็นพิษ[7]
หมายเหตุ : จากหนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด ของเภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก ตาม [7] ใช้หัวข้อเรื่องว่า “พุดซ้อน” แต่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของพุดจีบ (ทั้งพุดจีบและพุดซ้อนต่างก็มีชื่อพ้องที่เหมือนกัน บางแห่งเรียกพุดซ้อนว่าพุดจีบ และบางแห่งก็เรียกพุดจีบว่าพุดซ้อน) ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า “พุดซ้อน” ในหนังสือเล่มนี้หมายถึง “พุดจีบ” (ขออิงตามชื่อวิทยาศาสตร์)
ประโยชน์ของพุดจีบ
- ต้นพุดจีบนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประธานตามสวนหย่อม เพราะมีกิ่งก้านสวยงาม หรือจะใช้ปลูกตามริมน้ำตก ลำธาร มุมตึก หรือปลูกบังกำแพงก็ได้ อีกทั้งดอกยังส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลากลางคืนอีกด้วย[2]
- ดอกสามารถนำมาร้อนมาลัยเพื่อถวายพระได้[3]
- ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่า เนื้อของผลสุกใช้เป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีส้มแดง ส่วนเนื้อไม้ใช้ทำธูปได้ และดอกใช้ทำหัวน้ำหอม
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “พุดจีบ (Phut Chip)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 197.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พุดจีบ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [02 พ.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไทยสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พุดจีบ”.
- ข่าวจากเดลินิวส์. “ทันตแพทย์ มช.ค้นพบยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ”.
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พุดจีบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [02 พ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “พุดจีบ, พุดซ้อน”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [02 พ.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “พุดซ้อน”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 131-132.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (SierraSunrise, theeyeofisis5, Graeme Simpson, 石川 Shihchuan, rjackb, Dr Asha Rani Arora, 阿橋, kalyanee subramani)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)