พิษนาศน์
พิษนาศน์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sophora exigua Craib จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรพิษนาศน์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วดินโคก (เลย), แผ่นดินเย็น (อุบลราชธานี), นมราชสีห์ พิษนาท (ฉะเชิงเทรา), นมฤาษี เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของพิษนาศน์
- ต้นพิษนาศน์ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสั้นมาก มีความสูงได้เพียง 15-30 เซนติเมตร[1]
- ใบพิษนาศน์ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แนบไปกับพื้นดินเป็นแนวรัศมี ใบย่อยมี 9-13 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปวงรี ปลายใบเป็นรูปไข่กลับ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม[1]
- ดอกพิษนาศน์ ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีม่วงเข้ม มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ก้านช่อดอกยาว[1]
- ผลพิษนาศน์ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปขอบขนาน มีขนละเอียดสีขาว ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด[1]
สรรพคุณของพิษนาศน์
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากพิษนาศน์ นำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยลดไข้ในเด็ก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (กินมากไม่ดี) ใช้ฝนทาแก้พิษงู (ต้องว่าคาถาด้วย) และใช้ลำต้น ราก เหง้า และใบนำมาฝนทาเป็นยาแก้ฝี[1]
- ยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากพิษนาศน์ ฝนกับน้ำทาแก้ฝี[1],[2]
- บางข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้ชาวบ้านจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพิษภายใน ขับน้ำค้างขังตามที่ต่าง ๆ แก้คางทูม แก้ฟกบวมตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ และใช้ส่วนของต้นเป็นยาแก้ไข้เซื่องซึม ช่วยดับพิษกาฬที่ทำให้หมดสติ พูดไม่ออก (ยังไม่ยืนยัน)
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิษนาศน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [05 ต.ค. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ถั่วดินโคก”. อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 208. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [05 ต.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)