16 สรรพคุณและประโยชน์ของพาร์สลี่ย์ ! (Parsley)

16 สรรพคุณและประโยชน์ของพาร์สลี่ย์ ! (Parsley)

พาร์สลี่ย์

พาร์สลี่ย์ ชื่อสามัญ Parsley (พาร์สลี่ย์ (ออกเสียงแบบอเมริกัน), พาร์สเลย์ (ออกเสียงแบบไทย))[1]

พาร์สลี่ย์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Petroselinum crispum (Mill.) Fuss (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Apium crispum Mill., Apium petroselinum L., Carum petroselinum (L.) Benth. & Hook.f., Petroselinum hortense Hoffm., Petroselinum sativum Hoffm.)[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1],[3]

สมุนไพรพาร์สลี่ย์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านเยาวพาณี (ภาคใต้), ขึ้นฉ่ายฝรั่ง เทียนเยาวพาณี (ไทย), ฉินช่าย โอวโจว (จีนกลาง) เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณีที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกันกับเทียนเยาวพาณีที่จัดอยู่ในพิกัดเทียนทั้งเก้า อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง เทียนเยาวพาณี (Ajowan)

ลักษณะของพาร์สลี่ย์

  • ต้นพาร์สลี่ย์ จัดเป็นพืชขนาดเล็กคล้ายต้นผักชี มีอายุประมาณ 2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่ง สูงได้ประมาณ 50-120 เซนติเมตร[1]

ต้นพาร์สลี่ย์
ต้นพาร์สลี่ย์ดอกเหลือง

  • ใบพาร์สลี่ย์ ก้านมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ก้านใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบย่อยแตกเป็นแฉกแบบขนนก 2-3 ชั้น ขอบใบหยักคล้ายผักชีใบเล็ก (มีทั้งใบหยิกและใบแบน) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร มีก้านใบย่อยสั้น[1],[4]

พาร์สลี่ย์
พาร์สลี่ย์ใบเรียบ

ใบพาร์สลี่ย์
พาร์สลี่ย์ใบหยิก

  • ดอกพาร์สลี่ย์ ออกดอกเป็นช่อแบบก้านซี่ร่ม มีดอกย่อยประมาณ 10-12 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่บนฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก[1]

ดอกพาร์สลี่ย์
พาร์สลี่ย์ดอกเหลือง

ดอกพาร์สเลย์
พาร์สลี่ย์ดอกขาว

  • ผลพาร์สลี่ย์ เมล็ดเป็นเมล็ดแห้งรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดงสลับขาว มีกลิ่นหอม[1]

ผลพาร์สลี่ย์
ผลพาร์สลี่ย์

เมล็ดพาร์สเลย์
เมล็ดพาร์สลี่ย์

เมล็ดพาร์สลี่ย์
เมล็ดพาร์สลี่ย์

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกันยังพบพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณีอีก 2 ชนิด ได้แก่ Petroselinum crispum var. neapolitanum (พบได้ในประเทศอิตาลี) และ Petroselinum crispum var. tuberosum (พบได้ในประเทศเยอรมนี)[1]

สรรพคุณของพาร์สลี่ย์

  1. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 7.5 กรัม นำมาแช่กับน้ำร้อนนาน 5-10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เมล็ด)[3]
  2. ทั้งต้นและเมล็ดมีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับเสมหะและละลายเสมหะ (เมล็ด, ทั้งต้น)[1],[2]
  3. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เมล็ด, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  4. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการสะอึก (ใบ)[3]
  5. เมล็ดและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับลมในท้อง แก้อาการจุกเสียด ช่วยในการย่อยอาหาร (เมล็ด, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  6. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด, ทั้งต้น)[1]
  7. ช่วยทำให้มดลูกของสตรีหลังคลอดบุตรเข้าอู่เร็วขึ้น (เมล็ด, ทั้งต้น)[1]
  8. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดตามข้อเนื่องจากลมชื้นเกาะติด (เมล็ด, ทั้งต้น)[1]

ใบใช้ตำพอกแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ต้นแห้งหรือผลประมาณ 10-20 กรัม ส่วนต้นสดให้ใช้ 30-50 กรัม และเมล็ดให้ใช้ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามต้องการ[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพาร์สลี่ย์

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acetaldehyde, apigenin, apiol, benzifuran, bergapten, bisabolene, cadinene, cadinol, camphene, carotene, β-carotene, chrysoriol-7-O-β-D-glucoside, coumarin, crispane, crispanone, flavonoids, graveolone, imperatorin, jasmonic acid, lutein, peucedanin, quercetin, rutin, sabinene, santene, flavanone, terpinene, trigonelline, vitamin A, vitamin B, xanthotoxin, m-xylene, yangonin[3]
  • ในเมล็ดพบน้ำมันระเหย ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ Apiole หรือ Apiin และ Myristicin และยังพบวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี อีกทั้งยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ อีกด้วย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ต้านการเกิดนิ่ว ขับปัสสาวะ ขับน้ำลม ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ลดการปวดโรคข้ออักเสบ[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า เมื่อฉีดสารสกัดอีเธอร์จากผลแห้งเข้าทางเส้นเลือดดำของสุนัขขนาดต่ำที่สุดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย คือ 0.25 กรัมต่อกิโลกรัม สารสกัดด้วยอีเธอร์จากผลแห้งเป็นพิษ โดยพบว่ามีความเป็นพิษต่อตับและไต[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.1923 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองและพบว่าเมล็ดออกฤทธิ์เหมือนสารอินซูลิน[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.1999 ที่ประเทศตุรกี ในมหาวิทยาลัย Marmara ได้ทำการทดลองใช้สมุนไพรพาร์สลี่ย์หรือเทียนเยาวพาณี โดยทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วยสาร Alloxan โดยให้สารสกัดจากผลแห้ง ฉีดเข้าที่ผิวหนังของหนูทดลอง พบว่าได้ผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าผลการลดน้ำตาลในเลือดได้ผลมากน้อยเพียงใด[3]

ประโยชน์ของพาร์สลี่ย์

  1. ใบพาร์สลี่ย์หยิกนิยมนำมาใช้ประดับตกแต่งในจานอาหารให้ดูน่ารับประทาน หรือนำมาสับใส่แต่งอาหารในขั้นสุดท้ายของการปรุง นำมาผสมแต่งกลิ่นและรสในน้ำสลัดและซอส ใช้ผสมในเครื่องหมักเนื้อ ใช้กับอาหารประเภทยำ ชุบแป้งหรือชุบไข่ทอด หรือนำมารับประทานสด ส่วนใบพาร์สลี่ย์ใบแบนจะมีกลิ่นหอมฉุนมากกว่าใบหยิก จึงนิยมใช้เป็นผักปรุงรสและหุงต้มอาหารและนำมาชุบแป้งทอด[4],[5]
  2. ผลแก่แห้งใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้โรยหน้าอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว เช่น ทำสปาเกตตี พาสต้า ราวิโอลี่ กุ้งย่างเนย กุ้งย่างกับพริกเม็กซิกัน หอยแมลงภู่อบชีส และอื่น ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ
  3. พาร์สลี่ย์เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ สูงมาก โดยพาร์สลี่ย์ 1 ถ้วย จะมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแคร์รอตหัวใหญ่ 1 หัว มีวิตามินซีมากกว่าส้มลูกหนึ่งเกือบ 2 เท่า มีวิตามินอีเท่ากับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลเซียมมากกว่านม 1 แก้ว มีธาตุเหล็กมากกว่าตับที่มีน้ำหนักเท่ากัน มีโปรตีนมากกว่าเต้าหู้ขาว 1 ชิ้น มีเส้นใยมากกว่าข้าวโพด 1 ฝักถึง 15 เท่า และยังเป็นผักที่มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 สูง และในขณะเดียวกันการรับประทานผักพาร์สลี่ย์สด ๆ เพียง 10 ก้าน จะให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีเท่านั้น[4]
  4. พาร์สลี่ย์มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากประกอบไปด้วยสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด รวมทั้งอาพิเจนิน ลูทีโอลิน เคมฟีรอล เควอซิติน ไครโซเออรอล ไอโซแรห์มเนติน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระของส่วนที่เป็นพลาสมาในเลือด ช่วยทำให้มีการทำงานของเอนไซม์ที่ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพาร์สลี่ย์มีผลในการช่วยปกป้องต่อการทำลายกระบวนการออกซิเดชั่น[4]
  5. พาร์สลี่ย์ต้านมะเร็งเต้านม วารสาร Cancer Prevention Research ได้ระบุว่า ใบพาร์สลี่ย์ประกอบไปด้วยสารพฤกษเคมีสำคัญที่มีชื่อว่า อะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการสร้างเส้นเลือดที่สามารถลำเลียงอาหารเข้าสู่เซลล์มะเร็ง จากการทดลองโดยการฉีดสารอะพิจีนีนให้กับหนูทดลองที่เป็นมะเร็งเต้านม ผู้วิจัยได้สังเกตเห็นว่า อัตราการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมลดลง และผู้วิจัยยังมีความเห็นว่า จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมปริมาณที่เหมาะสมในการใช้สารชนิดนี้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในคนต่อไป พร้อมทั้งยังระบุว่า สารอะพิจีนีนในเลือดแม้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่มันก็สามารถช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้[6] และพาร์สลี่ย์มีสารต้านมะเร็งที่ช่วยทำให้สารก่อมะเร็งในใบยาสูบไม่ออกฤทธิ์[5]
  6. ลมหายใจสดชื่นด้วยพาร์สลี่ย์ สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสีเขียวที่พบได้มากในใบพาร์สลี่ย์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก การเคี้ยวใบพาร์สลี่ย์หลังอาหารจึงช่วยลดปัญหากลิ่นปากได้[4]
  7. นอกจากนี้ พาร์สลี่ย์ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของไต มีสารขับปัสสาวะ มีธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง แก้โรคหอบหืด ลดอาการไอ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารและแก๊สในทางเดินอาหารเป็นไปด้วยดี ลดอาการปวดเสียด ในสมัยก่อนจะใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของสตรี ใบสดนำมาบดใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และแมลงกัดต่อยได้ ช่วยแก้อาการนมคัดของสตรีมีครรภ์ก็ใช้รักษาได้ดี และใบยังเหมาะกับสตรีที่ให้นมบุตรอีกด้วย เพราะจะได้รับธาตุเหล็กชดเชยในส่วนที่แม่สูญเสียไป[4],[5]
  8. ผิวสวยไร้สิวด้วยใบพาร์สลี่ย์ เพียงแค่คุณนำใบพาร์สลี่ย์มาสับให้ละเอียด จากนั้นเรียงลงไปในถาดน้ำแข็งใส่น้ำให้เต็มรอให้เย็นเป็นก้อน ห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นสิวบวม อักเสบ แดง ประมาณ 20 วินาที ทุกเช้าเย็น ก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเอาใบมาแช่น้ำไว้ข้ามคืนก็จะได้น้ำยาโลชั่นที่ใช้ทำความสะอาดผิวได้เป็นอย่างดี[4]

คุณค่าทางโภชนาการของใบพาร์สลี่ย์สด ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 36 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 6.33 กรัม
  • น้ำตาล 0.85 กรัม
  • ใยอาหาร 3.3 กรัม
  • ไขมัน 0.79 กรัม
  • โปรตีน 2.97 กรัม
  • วิตามินเอ 421 ไมโครกรัม (53%)
  • เบต้าแคโรทีน 5,054 ไมโครกรัม (47%)
  • ลูทีนและซีแซนทีน 5,561 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.086 มิลลิกรัม (7%)
  • วิตามินบี 2 0.09 มิลลิกรัม (8%)
  • วิตามินบี 3 1.313 มิลลิกรัม (9%)
  • วิตามินบี 5 0.4 มิลลิกรัม (8%)
  • วิตามินบี 6 0.09 มิลลิกรัม (7%)
  • วิตามินบี 9 152 ไมโครกรัม (38%)
  • วิตามินซี 133 มิลลิกรัม (160%)
  • วิตามินอี 0.75 มิลลิกรัม (5%)
  • วิตามินเค 1,640 ไมโครกรัม (1,562%)
  • แคลเซียม 138 มิลลิกรัม (14%)
  • ธาตุเหล็ก 6.2 มิลลิกรัม (48%)
  • แมกนีเซียม 50 มิลลิกรัม (14%)
  • แมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม (8%)
  • ฟอสฟอรัส 58 มิลลิกรัม (8%)
  • โพแทสเซียม 554 มิลลิกรัม (12%)
  • โซเดียม 56 มิลลิกรัม (4%)
  • สังกะสี 1.07 มิลลิกรัม (11%)

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

การเลือกซื้อและยืดอายุความสด : ให้เลือกพาร์สลี่ย์ที่มีก้านและใบเป็นสีเขียวเข้ม ก่อนเก็บเข้าในตู้เย็น ควรพรมน้ำเล็กน้อย แล้วห่อด้วยกระดาษอเนกประสงค์สำหรับงานครัว จากนั้นนำมาใส่ในถุงพลาสติกและเก็บในช่องผัก วิธีนี้จะช่วยคงความสดของพาร์สลี่ย์ได้นานถึง 2 สัปดาห์ และก่อนนำมาปรุงอาหาร ควรนำมาแช่และล้างในน้ำเย็นเพื่อคงความสดและคุณค่าทางอาหาร[6]

พาร์สเลย์

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เทียนเยาวพาณี”.  หน้า 278.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนเยาวพาณี  Parsley”.  หน้า 215.
  3. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “เทียนเยาวพานี”.  หน้า 93-94.
  4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  (ศรัญญา เหล่าวิทยางค์กูร ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ).  “พาร์สลีย์ ไม่ใช่แค่ผักประดับจาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [05 ธ.ค. 2014].
  5. เดอะแดนดอทคอม.  “พาร์สเลย์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com.  [05 ธ.ค. 2014].
  6. นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 369.  “พาร์สลีย์ ต้านมะเร็งคุณผู้หญิง”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jon Sullivan, Forest and Kim Starr, jennshack, Regenerando biodiversidad, stoplamek, Sandy Austin, John and Anni Winings, Len Matthews)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด