พวงไข่มุก
พวงไข่มุก ชื่อสามัญ American elder[2],[3]
พวงไข่มุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Sambucus canadensis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sambucus simpsonii Rehder)[1] จัดอยู่ในวงศ์ ADOXACEAE
สมุนไพรพวงไข่มุก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อุน อุนฝรั่ง (แพร่), ระป่า (ปราจีนบุรี), ซิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), พอตะบุ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), อูนบ้าน (คนเมือง), หมากอูนบ้าน ไม้ขี้ป้าน (ไทใหญ่), อูนน้ำ เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของพวงไข่มุก
- ต้นพวงไข่มุก มีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาเหนือ จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ย ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก พุ่มโปร่ง กิ่งแก่กลวง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตในระดับปานกลาง ควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดตลอดวันเพราะจะทำให้ต้นมีความแข็งแรง มักขึ้นตามชายป่าทั่วไปที่มีความชุ่มชื้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ที่ระดับความสูงประมาณ 200-1,300 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบพวงไข่มุก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงตรงข้าม ใบย่อยมีประมาณ 2-6 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร[1],[4]
- ดอกพวงไข่มุก ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ขนาดประมาณ 20-45 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ขนาดเล็ก กลีบรองดอกเป็นหลอดยาว 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาว ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ขนาดดอกประมาณ 4-4.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 5 แฉก ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[4]
- ผลพวงไข่มุก ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกลม ผิวมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดประมาณ 4-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร[1],[4]
สรรพคุณของพวงไข่มุก
- ดอกแห้งใช้เป็นยาชงช่วยขับเหงื่อ (ดอกแห้ง)[5]
- ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ราก)[3]
- ชาวไทใหญ่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการตัวบวม (ทั้งต้น)[3]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบพวงไข่มุก นำมาต้มใส่ไข่กิน หรือใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น หมกประคบ บรรเทาอาการมือเท้าเคล็ด (ใบ)[1] บ้างว่าใช้ดอกที่มีน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม ผสมกับสมุนไพรอื่นหมกประคบแก้มือเท้าเคล็ด (ดอก)[2],[5]
ประโยชน์ของพวงไข่มุก
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหาร[5]
- ผลสุกใช้รับประทานได้ หรือนำมาใช้ทำแยมและขนมพาย[5]
- ในบางประเทศจะนำดอกมาใช้ปรุงอาหาร หรือชงน้ำดื่มทำไวน์
- ช่อดอกใช้ไปวัดเพื่อบูชาพระ หรือใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกตามริมน้ำ ริมบ่อน้ำ หรือปลูกตกแต่งสวนให้ใกล้น้ำตกภายในบ้าน ต้นมีรูปทรงสวยงาม ดอกจะมีกลิ่นหอมมากในช่วงเช้า สามารถปลูกได้ทั้งในที่มีแสงแดดจัดตลอดวันและที่ร่มรำไร ขยายพันธุ์ได้ง่าย[2],[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พวงไข่มุก”. หน้า 189.
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “พวงไข่มุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [09 พ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พวงไข่มุก, อูนบ้าน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [09 พ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “อูนน้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [09 พ.ย. 2014].
- ทะเบียนพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “ดอกอูน พวงไข่มุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.wattano.ac.th. [09 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Wasana Thespol, SierraSunrise, Phuong Tran, Jim Thompson)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)