พวงตุ้มหู
พวงตุ้มหู ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia pilosa H.R.Fletcher จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[2]
สมุนไพรพวงตุ้มหู มีชื่อเรียกอื่นว่า เข้าพรรษา (น่าน), ตุ้มไก่ (เลย), พวงตุ้ม พวงตุ้มหู (นครราชสีมา)[2], ตีนเป็ด[1] เป็นต้น
ลักษณะของพวงตุ้มหู
- ต้นพวงตุ้มหู จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 0.5-1.5 เมตร เปลือกต้นและก้านใบเป็นสีแดง ผิวเรียบ แตกกิ่งก้านน้อยช่วงปลายยอด ชอบขึ้นในที่ร่ม พบได้ตามป่าเบญจพรรณ และป่าชื้นทั่วไป[1],[2]
- ใบพวงตุ้มหู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบกลมมน โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบหยักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ลักษณะของใบค่อนข้างอวบน้ำ หลังใบและท้องใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีจุดตามแผ่น ก้านใบมีขน ยาวได้ประมาณ 3-10 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกพวงตุ้มหู ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อละหลายดอก ก้านดอกยาวเกือบเท่ากัน ลักษณะคล้ายซี่รุ่มแต่หัวห้อยลง กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีชมพูอมม่วง มี 4-5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน กลีบซ้อนกันและมักจะบิดเวียน ส่วนกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้าง มี 4-5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ก้านเกสรสั้น เรียงชิดติดกันมี 5 อัน รังไข่กลม ส่วนปลายเป็นท่อยาว จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]
- ผลพวงตุ้มหู ผลมีลักษณะกลม ผิวผลมัน มีจุดประปราย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของพวงตุ้มหู
- ตำรายาไทยจะใช้รากพวงตุ้มหูเป็นยาแก้ไข้ และใช้ใบเป็นยาแก้ไอ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพวงตุ้มหู
- ใบและกิ่งพวงตุ้มหู พบสาร catechin, gallic acid, quercetin, protocatechuic acid, p-coumarinic acid[1]
- ใบและกิ่งพวงตุ้มหูมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดปริมาณการสร้างสารอนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ในหลอดทดลอง[1]
ประโยชน์ของพวงตุ้มหู
- ผลใช้เป็นอาหารของสัตว์ป่าและนก[1],[2]
- ลำต้นใช้ทำเครื่องจักสาน[1]
- ต้นพวงตุ้มหู สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พวงตุ้มหู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ต.ค. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “พวงตุ้มหู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [03 ต.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)