พวงชมพู สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพวงชมพู 3 ข้อ !

พวงชมพู

พวงชมพู ชื่อสามัญ Mexican Creeper, Bee Bush, Bride’s tears, Coral Vine, Chain of Love, Confederate Vine, Corallita, Hearts on a Chain, Honolulu Creeper, Queen’s Jewels, Mountain Rose Coralvine, San Miguelito Vine, Rose Pink Vine[1],[2],[4]

พวงชมพู ชื่อวิทยาศาสตร์ Antigonon leptopus Hook. & Arn. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antigonon amabie K.Koch, Antigonon cinerascens M.Martens & Galeott, Antigonon cordatum M.Martens & Galeotti, Antigonon platypus Hook. & Arn., Corculum leptopus Stuntz) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]

สมุนไพรพวงชมพู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ชมพูพวง (กรุงเทพฯ), หงอนนาก (ปัตตานี), พวงนาก (ภาคกลาง) เป็นต้น[2]

ลักษณะของพวงชมพู

  • ต้นพวงชมพู มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง พบมากในประเทศเม็กซิโก จัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่มีเถาเนื้ออ่อนขนาดเล็ก แต่ตรงส่วนโคนจะแข็งแรงมาก ลำเถาเป็นสีเขียวอ่อน มีมือสำหรับยึดเกาะพันต้นไม้หรือกิ่งอื่นเพื่อการทรงตัว และสามารถเลื้อยพันสิ่งต่าง ๆ ไปได้ไกลประมาณ 40 ฟุต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำกิ่ง พวงชมพูเป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดมาก ต้องการน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่มีความชื้นพอสมควร นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน แต่ในบางประเทศพบขึ้นเป็นวัชพืช[1],[2],[4]

ต้นพวงชงพู

  • ใบพวงชมพู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบช่วงโคนมักมีขนาดใหญ่กว่าใบช่วงปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักมนไม่แหลมหรือเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบและเส้นแขนงย่อยชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบพวงชงพู

ใบพวงชงพู

  • ดอกพวงชมพู ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และที่ปลายยอด ช่อแขนงยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ส่วนปลายช่อสุดจะมีสำหรับเกาะเกี่ยวสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นการพยุงตัว ดอกออกเป็นกระจุกตามแขนงช่อ ดอกบางทีก็มีสีขาว บางทีก็มีสีชมพู แก่บ้างอ่อนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ดอกจะเป็นสีชมพู ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบรวมมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ขยายในผล ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบนอกมี 2-3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนกลีบในเป็นรูปขอบขนาน ลักษณะของดอกเป็นรูปคล้ายหัวใจเล็ก ๆ ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรกว่า ๆ ดอกกลุ่มหนึ่ง ๆ ของต้นพวงชมพู อาจจะออกเป็นช่อตั้งหรือห้อยเป็นพวงระย้าก็ได้[1],[2],[4]

รูปพวงชงพู

ดอกพวงชงพู

พวงชงพูขาว

พวงชงพูดอกขาว

  • ผลพวงชมพู ผลเป็นผลแห้งเมล็ดล่อน ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร มีกลีบรวมที่ขยายหุ้ม[2],[4]

ผลพวงชงพู

เมล็ดพวงชมพู

สรรพคุณของพวงชมพู

  • รากและเถาใช้เป็นยากล่อมประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ด้วยการใช้เถาประมาณ 1 กำมือ หรือใช้รากประมาณ 1/2 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว แล้วต้มให้เหลือ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนนอนครั้งละ 3 ช้อนแกง (ราก, เถา)[2]

ประโยชน์ของพวงชมพู

  • ยอดอ่อนและช่อดอกที่ยังไม่บานเต็มที่ อาจนำมาลวกให้สุกเพื่อใช้รับประทานเป็นผักจิ้มหรือชุบแป้งทอดรับประทานก็ได้[3]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีความสวยงามสีเย็นตาไม่ฉูดฉาดเกินไป พวงชมพูเป็นไม้ปลูกง่ายและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ไม่มีโรคและแมลงมารบกวนจนถึงขั้นเสียหาย เหมาะแก่การนำมาปลูกลงในกระถางตั้งที่มีหลักสำหรับเกาะยึดเลื้อยขึ้นไป ปลูกลงในกระถางแขวนให้ห้อยลง ปลูกประดับตามริมขอบหน้าต่างและระเบียง หรือใช้ปลูกคลุมซุ้มที่นั่งเพื่อให้ร่มเงา หรือปลูกขึ้นคลุมต้นก็ดูสวยงามไม่น้อย ออกดอกดกมากในช่วงฤดูแล้ง คือในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่ควรนำมาปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงเพราะพรรณไม้ชนิดนี้ต้องการแสงมาก ส่วนการรดน้ำควรรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง โดยการรดน้ำแต่ละครั้ง จะต้องรดให้ชุ่มแต่ไม่ต้องแฉะมาก เพราะอาจทำให้รากพืชเน่าและตายได้ในที่สุด และควรให้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อเสริมให้ต้นพวงชมพูงอกงามได้ดีขึ้นและให้ดอกที่สวยงาม[1],[3]

เอกสารอ้างอิง
  1. ไม้ดอกไม้ประดับ. “พวงชมพู”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : it.kbtc.ac.th.  [09 ม.ค. 2015].
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พวงชมพูดอกขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [09 ม.ค. 2015].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 269 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “พวงชมพู ดวงใจดวงน้อยที่งดงามและบอบบาง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [09 ม.ค. 2015].
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พวงชมพู”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [09 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Betsy J…, Sue Carnahan, Kai Yan, Joseph Wong, Yeoh Yi Shuen, Forest and Kim Starr, James Rose, Cam Do Xuan, Gerardo Marrón)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด