พลองกินลูก
พลอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon ovatum Sm.[2] จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)[2]
สมุนไพรพลอง ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลองกินลูก พลองใหญ่[2] พลองใบใหญ่[1] (ประจวบคีรีขันธ์), พลอง (นครราชสีมา) เป็นต้น[1]
ลักษณะของต้นพลองกินลูก
- ต้นพลอง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อนทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-7 เมตร[1] บ้างว่าสูงได้ประมาณ 6-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแตกกิ่งก้านต่ำ เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นสะเก็ดบาง ๆ หรือเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกบาง ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น ชอบแสงแดดแบบรำไร มักพบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าคืนสภาพ และตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[3]
- ใบพลอง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่มน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อน[1],[2],[3]
- ดอกพลอง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนกรอบ โดยจะออกตามข้อต้น ตามง่ามใบ หรือตามกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 0.3 เซนติเมตร โดยดอกตูมจะเป็นสีชมพู เมื่อบานแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำเงิน ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ และจะบานเกือบพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3]
- ผลพลอง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี (คล้ายผลหว้า) มีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีชมพูอมม่วงเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงดำหรือเป็นสีน้ำเงินเกือบดำ มีเนื้อบาง ๆ หุ้ม โดยจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[3]
สรรพคุณของพลอง
- เนื้อไม้และรากใช้ฝนหรือต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้หัด (เนื้อไม้, ราก)[1]
- เนื้อไม้และรากใช้ฝนหรือต้มดื่มเป็นยาถอนพิษผิดสำแดง ดับพิษร้อน และดับพิษภายในต่าง ๆ (เนื้อไม้, ราก)[1]
- ใบใช้เป็นยาแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ไม่ทำให้เกิดเป็นแผลเป็น และช่วยดับพิษปวดแสบปวดร้อน (ใบ)[1]
ประโยชน์ของพลอง
- เนื้อหุ้มเมล็ดของผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานได้[2]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “พลอง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 114.
- หนังสือพืชกินได้ในป่าสะแกราช เล่ม 1. “พลองกินลูก”. (สมัย เสวครบุรี, ทักษิณ อาชวาคม). หน้า 215-216.
- หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ.
ภาพประกอบ : davesgarden.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)