พริกนายพราน
พริกนายพราน ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana bufalina Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ervatamia bufalina (Lour.) Pichon, Ervatamia celastroides Kerr, Ervatamia luensis (Pierre ex Pit.) Pierre ex Kerr) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)
สมุนไพรพริกนายพราน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มดง พุดป่า (เลย), ช้าฮ่อม (ตาก), พริกผี (ยโสธร), พุดน้อย พุดป่า พุทธรักษา (อุบลราชธานี), มะลิฝรั่ง (กรุงเทพมหานคร), เข็มดง พริกป่า พริกป่าใหญ่ พริกป่าเล็ก (ชลบุรี), พริกพราน (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของพริกนายพราน
- ต้นพริกนายพราน จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเกลี้ยง มีความสูงได้ประมาณ 1-4 เมตร กิ่งมีช่องอากาศ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และตามป่าละเมาะทั่วไป จนถึงระดับความสูง 400 เมตร[1],[2],[3]
- ใบพริกนายพราน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีแคบแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมยาวคล้ายหาง โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบบาง ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกพริกนายพราน ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายยอด มีดอกย่อย 3-25 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกเข็ม กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อน ยาวเกือบ 2 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ปลายแหลมยาว เรียงซ้อนกัน บางครั้งขอบมีขนอุย ส่วนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.2-1.7 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 7-9 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรสั้น อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม ท่อเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ปลายเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก รังไข่มี 2 ช่อง แยกจากกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[2]
- ผลพริกนายพราน ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะโค้ง รูปรีปลายเรียวแหลม คอดเว้าเป็นพูตื้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9-1 เซนติเมตร ผลย่อยแตกเป็นแนวเดียว ผิวผลเป็นมันสีเขียว ภายในมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด เมล็ดแก่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด[1]
สรรพคุณของพริกนายพราน
- ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นมีรสเย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน ช่วยดับพิษร้อน ส่วนรากมีรสสุขุม ใช้เป็นยาแก้โรคลม ปรุงเป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษเนื่องจากชอกช้ำ และช่วยแก้ช้ำใน (ราก, ทั้งต้น)[1]
- ยาพื้นบ้านมุกดาหาร จะใช้รากพริกนายพรานเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1]
- ยาพื้นบ้านภาคกลาง จะใช้รากพริกนายพรานผสมกับรากต่อไส้และรากหนามพุงดอ ฝนกับเหล้าดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก)[1]
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย และช่วยสมานแผล (ราก)[1]
- ยาพื้นบ้านทางภาคอีสาน จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ตกขาวของสตรี นำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอเป็นเลือด หรือตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาทาแก้ฝี (ราก)[1]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พริกนายพราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ก.ย. 2015].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พริกนายพราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [30 ก.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “พริกนายพราน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [30 ก.ย. 2015].
ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), ict2.warin.ac.th (by กมล แสวงนาม)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)