พระจันทร์ครึ่งซีก
พระจันทร์ครึ่งซีก ชื่อสามัญ Chinese lobelia[7]
พระจันทร์ครึ่งซีก ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia caespitosa Blume, Lobelia campanuloides Thunb., Lobelia radicans Thunb.) จัดอยู่ในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (CAMPANULACEAE)[1],[2],[3],[4],[7],
สมุนไพรพระจันทร์ครึ่งซีก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวครึ่งซีก (ชัยนาท), ผักขี้ส้ม (สกลนคร), ปั้วใบไน้ (จีน), ปัวปีไน้ ปั้วปีไน้ (จีนแต้จิ๋ว), ป้านเปียนเหลียม ป้านเปียนเหลียน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[7]
ลักษณะของพระจันทร์ครึ่งซีก
- ต้นพระจันทร์ครึ่งซีก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กคล้ายหญ้า อายุหลายปี ลำต้นมักทอดเลื้อยไปตามพื้นผิวดิน ชูส่วนยอดขึ้น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-20 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีแดงอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน มีลักษณะเรียวเล็กและมีข้อ ถ้าหักลำต้นจะมีน้ำยางขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลซึมออกมา รากใต้ดินมีขนาดเล็กกลมสีเหลืองอ่อน ภายในเป็นสีขาว ตามข้อของลำต้นจะมีใบ หรือกิ่งออกสลับกัน และมีรากฝอยแตกออกมาตามข้อ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกต้นปักชำ พบทั่วไปในประเทศจีน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ที่ระดับความสูงประมาณ 100-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4],[7]
- ใบพระจันทร์ครึ่งซีก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบตัด กลม หรือมน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยมนตื้น ๆ แบบห่าง ๆ เกือบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ[1],[3],[7]
- ดอกพระจันทร์ครึ่งซีก ออกดอกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนหรือสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรียาว ปลายกลีบดอกแหลม เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด แต่หลอดดอกแยกผ่าออก ทำให้กลีบดอกเรียงตัวกันอยู่เพียงด้านเดียว หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว กลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วงมี 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีขนเล็กน้อย และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ก้านชูเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกเป็น 2 แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ห้อง เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก โดยดอกนั้นจะบานในช่วงฤดูร้อน[1],[3],[4]
- ผลพระจันทร์ครึ่งซีก ผลพบได้ในบริเวณดอก มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลเมื่อแห้งและแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแบน[1],[4]
สรรพคุณของพระจันทร์ครึ่งซีก
- ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษพิษไข้ (ทั้งต้น)[4]
- ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ไข้ มาลาเรีย แก้อาการไอ (ทั้งต้น)[5],[7]
- ใช้แก้อาการคัดจมูกหรือโรคภูมิแพ้ เนื่องจากการใช้ยาเข้ารากระย่อม (Rauvolfia Serpentina Benth) (ทั้งต้น)[5]
- ทั้งต้นสดใช้ตำผสมกับเหล้าเล็กน้อยรับประทานเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5]
- ทั้งต้นใช้ตำแล้วนำมาอมแก้อาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดปั้นเป็นก้อนเท่าไข่ไก่ แล้วใส่ในถ้วยเติมเหล้าลงไปประมาณ 90 มิลลิลิตร ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำมาแบ่งอมครั้งละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
- ใช้รักษาตาแดง ด้วยการใช้ต้นสดพอประมาณ นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด ใช้พอกบนหนังตา แล้วเอาผ้าก๊อซปิด ให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[3],[5]
- ช่วยรักษาโรคออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[7]
- ทั้งต้นมีรสเย็นสุขุม ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงปอด แก้วัณโรค แก้หืด หอบหืด แก้ปอดพิการ ปอดอักเสบ แก้พิษ แก้ไอเพราะปอดร้อน หรือไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)[1],[2],[4],[5]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการแน่นหน้าอก เจ็บสีข้าง บวมช้ำ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาเต้านมอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
- ใช้แก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3],[5]
- ใช้เป็นยาแก้บิด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำเติมน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย) รับประทานเป็นยา (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
- ช่วยแก้อาการถ่ายกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)[4]
- ใช้เป็นยาถ่าย ยาฆ่าพยาธิ (ทั้งต้น)[7]
- ช่วยรักษาไส้ติ่งอักเสบ (ทั้งต้น)[4]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้บวมน้ำ แก้พุงโลในตับบวมน้ำ แก้ไตอักเสบบวมน้ำ (ทั้งต้น)[4]
- ใช้รักษาดีซ่าน บวมน้ำ ขัดเบา ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) อีก 30 กรัม นำมาต้มใส่น้ำตาลทราย ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ทั้งต้น)[3],[5]
- ใช้รักษาอาการบวมน้ำเนื่องจากไตอักเสบ แก้ท้องมานเนื่องจากพยาธิใบไม้ในโลหิต ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3],[5]
- ใช้แก้พยาธิใบไม้ในตับ ด้วยการใช้ยาแห้ง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน ก็จะมีอาการดีขึ้น (ทั้งต้น)[4]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกเป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[7]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ฝีตะมอย ฝีหนอง ดับพิษ แก้บวม (ทั้งต้น)[1],[4]
- ใช้รักษาแผลเปื่อย บาดแผล ผิวหนังอักเสบ ฝี กลากเกลื้อน ผื่นคัน ด้วยการใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ตำให้แหลก ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[3],[5]
- ช่วยแก้พิษงู ด้วยการใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำประมาณครึ่งชั่วโมง แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง และใช้ต้นสดตำพอแหลก ใช้พอกแผลที่ถูกงูกัด โดยให้เปลี่ยนยาพอกวันละ 2 ครั้ง หรือใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้ารับประทานและพอกแผลที่ถูกงูกัด จากการรักษาด้วยวิธีนี้ พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายดีในเวลา 1-2 วัน บางส่วนหายหลังจากการรักษาประมาณ 3-5 วัน (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
- ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้อาการฟกช้ำ (ทั้งต้น)[4]
- ใช้รักษาอาการเคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ แก้อักเสบ โรคไขข้อ ข้ออักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 180 มิลลิลิตร โดยต้มให้เหลือ 90 มิลลิลิตร แล้วกรองเอาน้ำเก็บไว้ ส่วนกากเกลือที่เหลือให้นำไปต้มอีกครั้งในอัตราส่วนเดิม แล้วนำน้ำกรองครั้ง 2 มารวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มิลลิลิตร เสร็จแล้วเทใส่ขวดเก็บไว้ใช้ ก่อนนำมาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยา แล้วนำมาปิดตรงบริเวณที่มีอาการปวดบวม (ทั้งต้น)[3],[5],[7]
- ใช้เข้ายาแก้มะเร็งกระเพาะอาหารหรือที่ทวารหนัก (ทั้งต้น)[5]
ขนาดและวิธีการใช้ : การเก็บยามาใช้ให้เก็บทั้งต้นในช่วงฤดูร้อนในขณะดอกกำลังบาน[3] ส่วนวิธีการใช้ตาม [4] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนภายนอกให้ใช้ได้ตามต้องการตามความเหมาะสม[4] และควรใช้ยาต้มที่สดใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ง่าย หรืออาจจะเตรียมเป็นยาเม็ดหรือขี้ผึ้งไว้ใช้ก็ได้ แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม[5]
ข้อห้ามใช้ : สำหรับผู้ที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และมีอุจจาระหยาบเหลว หรือทางจีนเรียกว่า “ม้ามพร่อง” ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3],[5]
อาการเป็นพิษและวิธีการรักษา : หากใช้เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน ถ้ามีอาการมากจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ หายใจขัด หัวใจทำงานลดลง ซึม และอาจถึงตายได้ สำหรับวิธีแก้พิษเบื้องต้น ให้ใช้ยาฝาดสมาน ที่มี tannic acid เช่น ดื่มน้ำชาที่ชงแก่ ๆ หรือกินผงถ่านพิเศษ (activated charcoal) หรือใช้สวนทำให้อาเจียน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก
- ทั้งต้นพบสาร Alkaloid หลายชนิด สารที่สำคัญ คือ สาร Lobeline, Lobelanine, Isobelanine, Lobelandine และยังพบสาร Amino acid, Flavonoid, Saponin เป็นต้น[4]
- จากการศึกษาฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการใช้สารละลายที่ได้จากการแช่ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกในน้ำ นำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าความดันโลหิตของสุนัขจะลดลงเป็นเวลานาน แต่ถ้าใช้อัลคาลอยด์ราดิคานิน (radicanin) ในขนาดเท่ากัน นำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัข จะพบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอย่างเดียว แต่ไม่มีผลในการลดความดันโลหิต[3],[4]
- จากการศึกษาฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ด้วยการฉีดน้ำยาที่สกัดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย แต่ถ้ากรอกเข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีฤทธิ์เฉพาะในการขับปัสสาวะ แต่ไม่ทำให้ความดันโลหิตลดลง และต้องใช้ในปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ปริมาณของอัลคาลอยด์จากต้นพระจันทร์ครึ่งซีก ถ้าให้ในขนาดเท่ากับปริมาณที่ได้จากการทำเป็นน้ำยาสกัดข้างต้น แล้วนำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเท่ากัน นอกจากปริมาณของปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณของคลอไรด์ที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะก็เพิ่มสูงกว่าปกติด้วย โดยฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้าเกี่ยวข้องด้วย ที่นอกเหนือจากที่มีผลโดยตรงต่อไต ได้แก่ ต้นที่เก็บได้หลังการออกดอกจะมีฤทธิ์กว่าก่อนออกดอก, การต้มด้วยน้ำเดือด ๆ หรือใช้ความร้อนสูง เช่น การอบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะถูกทำลายหมด, ถ้านำมาแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีรสเปรี้ยว ไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ, ภายหลังการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะจะค่อย ๆ ลดลง เป็นต้น แต่สำหรับคนปกติแล้ว ถ้ากินยาต้มนี้จะมีผลทำให้ขับปัสสาวะ และเมื่อตรวจดูจะพบว่ามีสารคลอไรด์หรือสารโซเดียมในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น[3],[4],[6]
- เมื่อฉีดสารละลายที่ได้จากการต้มเข้าช่องท้องของหนูขาวทดลอง พบว่าจะทำให้ระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวลดลง ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้อีกด้วย[3],[4]
- เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากพระจันทร์ครึ่งซีกมาฉีดเข้าสุนัขทดลองที่ได้รับพิษงู พบว่าสามารถยับยั้งพิษงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ[4]
- สารสกัดจากพระจันทร์ครึ่งซีก มีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งเชื้อไทฟอยด์, เชื้อบิด, เชื้อในลำไส้ใหญ่ และเชื้อ Staphelo coccus[4]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า ปริมาณของสารละลายที่ให้โดยการกรอกเข้าไปในกระเพาะอาหารหนูขาว แล้วทำให้หนูทดลองตายได้ครึ่งหนึ่ง คือ 75.1 ± 13.1 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว ส่วนปริมาณของสารละลายที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดของหนูถีบจักรทดลอง แล้วทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 6.10 ± 0.26 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว[6]
- เมื่อฉีดสารละลายเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทดลองในปริมาณ 0.1-1.0 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว วันละครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูทดลอง ตลอดจนปริมาณตะกอนต่าง ๆ และอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบาย จากการตรวจสอบทางพยาธิวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ของหนูทดลอง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงแค่ไตบางส่วนของหนูทดลองที่มีอาการบวมเล็กน้อย[6]
- จากการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพวกพยาธิใบไม้ระยะท้าย ที่มีอาการตับแข็งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง จำพวก antimony potassium tartrate ที่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่าจะมีฤทธิ์แตกต่างกันออกไป แต่จะมีฤทธิ์ที่เหมือนกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับผู้ป่วยจำนวนมาก แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ในบางรายอาจมีอาการถ่ายท้อง ส่วนระยะเวลาการออกฤทธิ์ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลภายใน 1-5 วัน และในช่วงที่รักษาด้วยยานี้ก็พบว่า อาการท้องมานลดลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น การไหลเวียนของโลหิตก็ดีขึ้น โดยใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกแห้งประมาณ 15-20 กรัม เติมน้ำลงไป 300 มิลลิลิตร ใช้ไฟอ่อน ๆ แล้วต้มให้เหลือ 30 มิลลิลิตร เติมน้ำตาลลงไป แบ่งรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ทำการรักษาช่วงละ 15-20 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และให้รับประทานต่อไปเรื่อย ๆ จนอาการท้องมานหายไป รวมทั้งควรรับประทานอาหารเสริมจำพวกโปรตีนที่มีไขมันและเกลือเล็กน้อยหรือไม่มีเกลือ จากการรักษากับผู้ป่วยจำนวน 100 ราย พบว่าได้ผล 69 ราย[3],[5]
ประโยชน์ของพระจันทร์ครึ่งซีก
- ทั้งต้นใช้ผสมทำเป็นยานัตถุ์ดีมาก[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)”. หน้า 190.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 133.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 533-535.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 366.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 37 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 พ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “พระจันทร์ครึ่งซีกสมุนไพร”. อ้างอิงใน : จิราพร ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, รพีพล ภโววาท, วิทิต วัณนาวิบูล, สำลี ใจดี, สุนทรี วิทยานารถไพศาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [10 พ.ย. 2014].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พระจันทร์ครึ่งซีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [10 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kai Yan, Joseph Wong, Kar Wah Tam, 翁明毅, Alan Yip, Roy Wong)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)