พรมมิแดง
พรมมิแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Trianthema triquetra Rottler & Willd. จัดอยู่ในวงศ์ผักเบี้ยทะเล (AIZOACEAE)[1]
สมุนไพรพรมมิแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักเบี้ย (ราชบุรี, ชลบุรี, ภาคกลาง), พรมมิ พรมมิแดง (ประจวบคีรีขันธ์), อือลังไฉ่ อุยลักก๊วยโชะ (จีน) เป็นต้น[1]
ลักษณะของพรมมิแดง
- ต้นพรมมิแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณโคนต้น ส่วนกิ่งที่แตกนั้นจะทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามดินปนทรายทั่วไป[1] ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ส่วนในต่างประเทศพบในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และออสเตรเลีย (Phuphathanaphong, 2005)
- ใบพรมมิแดง ใบออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวแคบ โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.05-0.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.15-0.7 เซนติเมตร ก้านใบมีขนาดสั้น[1]
- ดอกพรมมิแดง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ กลีบดอกมีประมาณ 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่สลับกันกับกลีบดอก[1]
- ผลพรมมิแดง ออกผลเป็นฝัก ฝักมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำและมีลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต[1]
สรรพคุณของพรมมิแดง
- ต้นมีรสเย็นและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาดับพิษไข้หัว เช่น รักษาอาการไข้ อาการกระหายน้ำ อาการร้อนใน เป็นฝีดาษ ส่วนมากใช้ปรุงเป็นยาเขียวดับพิษร้อนทั้งปวง (ต้น)[1]
- ใบใช้เป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[1]
- ต้นใช้เป็นยาขับเลือด (ต้น)[1]
- ดอกใช้เป็นยารักษาโรคประจำเดือนที่จางใส (ดอก)[1]
- บางข้อมูลระบุว่า ทั้งต้นนอกจากจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษตานซาง แก้อักเสบบวมได้อีกด้วย (ข้อมูลจาก : www.songkhlaportal.com by เวสท์สงขลา)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พรมมิแดง”. หน้า 532-533.
ภาพประกอบ : www.kyffhauser.co.za
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)