พญาสัตบรรณ
พญาสัตบรรณ ชื่อสามัญ Devil tree, White cheesewood, Devil bark, Dita bark, Black board tree
พญาสัตบรรณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)
สมุนไพรพญาสัตบรรณ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หัสบัน สัตบรรณ สัตตบรรณ จะบัน บะซา ปูลา ปูแล ตีนเป็ด ตีนเป็ดขาว ตีนเป็ดไทย ต้นตีนเป็ด เป็นต้น
ลักษณะของพญาสัตบรรณ
- ต้นพญาสัตบรรณ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล เมื่อกรีดจะมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ นอกจากนี้ต้นพญาสัตบรรณยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย
- ใบพญาสัตบรรณ ออกเป็นกลุ่มที่บริเวณปลายกิ่ง โดยหนึ่งช่อจะมีใบประมาณ 5-7 ใบ มีสีเขียวเข้ม ใบยาวรี ปลายใบมนโคนแหลม ขนาดของใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น เมื่อเด็ดออกจะมีน้ำยาวสีขาว
- ดอกพญาสัตบรรณ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น หนึ่งช่อจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
- ผลพญาสัตบรรณ ผลออกเป็นฝัก ลักษณะฝักยาว เป็นฝักคู่หรือฝักเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้น ๆ กลมเรียว มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก มีขุยสีขาวสามารถปลิวไปตามลมได้ ส่วนในฝักจะมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมากลักษณะเป็นรูปขนานแบน ๆ ติดอยู่กับขุย
สรรพคุณของพญาสัตบรรณ
- เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นสัตบรรณมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน (เปลือกต้น)
- น้ำยางจากต้นใช้หยอดหูแก้อาการปวดหูได้ (ยาง)
- น้ำยางจากต้นใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟันได้ (ยาง)
- ใบอ่อนใช้ชงดื่ม ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิดได้ (ใบ)
- เปลือกต้นใช้แก้หวัด แก้อาการไอ รักษาหลอดลมอักเสบ (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ไข้ (เปลือกต้น,ใบ)
- ดอกช่วยแก้ไข้เหนือ ไข้ตัวร้อน (ดอก)
- เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม สรรพคุณช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ (ใบ)
- เปลือกต้นพญาสัตบรรณช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานลำไส้ได้ (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงกระเพาะ (ยาง)
- กระพี้มีสรรพคุณช่วยขับผายลม (กระพี้)
- ช่วยขับพยาธิไส้เดือน (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)
- ช่วยขับระดูของสตรี (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำนม (เปลือกต้น)
- ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ใบ)
- ในประเทศอินเดียมีการใช้ใบและยางสีขาวในการนำมาใช้รักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ (ใบ, ยาง)
- ยางใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว (ยาง)
- เปลือกต้นใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน (เปลือกต้น)
ประโยชน์ของพญาสัตบรรณ
- พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) สารสกัดจากใบพญาสัตบรรณสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ส่วนสารสกัดจากเปลือกของลำต้นก็จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้
- เนื้อไม้สามารถนำไปทำทุ่นของแหและอวนได้ (ในบอร์เนียว)
- เนื้อไม้หยาบ อ่อน แต่เหนียว สามารถใช้ทำหีบใส่ของ หีบศพ ทำโต๊ะ เก้าอี้ ฝักมีดของเล่นสำหรับเด็ก รองเท้าไม้ หรือไม้จิ้มฟันได้
- เนื้อไม้ ใช้ทำฟืน หรือนำใช้ทำโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน เป็นต้น
- สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหยของดอกพญาสัตบรรณสามารถใช้ไล่ยุงได้
- ต้นพญาสัตบรรณนอกจากจะปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงาแล้ว ยังเป็นไม้มงคลนามที่นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
- ต้นพญาสัตบรรณจัดเป็นไม้มงคลนาม ปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคนไทยโบราณเชื่อว่าการปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ที่บ้านจะทำให้มีเกียรติยศ จะทำให้ได้รับการยกย่องและการนับถือจากบุคคลทั่วไป ซึ่งความหมายของต้นก็มาจากคำว่าพญา ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่องและเคารพนับถือ ส่วนคำว่า สัต ก็มีความหมายว่า สิ่งที่ดีงาม ความมีคุณธรรมนั่นเอง และตามความเชื่อจะนิยมปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ทางทิศเหนือและผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ แต่ถ้าอยากให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนจุนวิทยาคม, เว็บไซต์โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์, เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง จังหวัดเชียงใหม่
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)