พญามุตติ สรรพคุณของต้นพญามุตติ 11 ข้อ ! (หญ้าจามหลวง)

พญามุตติ สรรพคุณของต้นพญามุตติ 11 ข้อ ! (หญ้าจามหลวง)

พญามุตติ

พญามุตติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Grangea maderaspatana (L.) Poir. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Grangea aegyptiaca (Juss. ex Jacq.) DC., Artemisia maderaspatana L., Tanacetum aegyptiacum Juss. ex Jacq.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[]

สมุนไพรพญามุตติ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าจามหลวง (เชียงใหม่), พญามุตติ (สุพรรณบุรี), กาดน้ำ, กาดนา เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของพญามุตติ

  • ต้นพญามุตติ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุฤดูเดียว มักแตกกิ่งก้านมากบริเวณโคนต้น ลำต้นมีลักษณะชูขึ้นสูงได้ประมาณ 10-55 เซนติเมตร หรือทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ที่ผิวจะมีขนนุ่มสีขาวและมีต่อม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามที่ชื้น และตามทุ่งนาทั่วไป[1],[2]

ต้นพญามุตติ

รูปพญามุตติ

  • ใบพญามุตติ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกลับถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบเรียว ส่วนขอบใบจักเว้าลึกข้างละประมาณ 3-4 หยัก ไม่เป็นระเบียบ แต่ละหยักนั้นค่อนข้างมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบอวบ ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ไม่มีก้านใบ มีส่วนเนื้อใบแผ่เป็นปีก[1],[2]

หญ้าจามหลวง

ใบพญามุตติ

  • ดอกพญามุตติ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ดอกย่อยเป็นกระจุกแน่นสีเหลือง ออกเดี่ยว ๆ ตรงปลายยอดตรงข้ามกับใบ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกมีขนนุ่มเป็นสีขาว ดอกย่อยมีจำนวนมาก โดยดอกเพศเมียจะเรียงกันเป็นชั้นวงนอกหลายวง มีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็กน้อย 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่รูปรี สีเขียว ยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม ก้านชูเกสรยาวประมาณ 1.8-2.2 มิลลิเมตร ปลายยอดเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะเรียงกันเป็นชั้นวงใน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองสด ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร มีเฉพาะดอกรูปหลอด กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดที่ฐาน ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดกัน สีเหลืองอ่อนแกมเทา ก้านชูเกสรมีลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ติดบริเวณฐานของหลอดกลีบดอก อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปกระสวย ยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เป็นรูปรี ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม ก้านชูเกสรเพศเมียมี 1 อัน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตรปลายยอดเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ผิวมีขนต่อม และมีชั้นใบประดับสีเขียวปนขาว ลักษณะเป็นรูปใบหอกหนาแข็ง วงใบประดับมี 3 ชั้น ผิวด้านนอกมีขนขึ้นประปราย วงนอกสุดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ส่วนวงที่สองเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร และวงในสุดเป็นรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-4.5 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[1],[2]

ดอกพญามุตติ

รูปดอกพญามุตติ

  • ผลพญามุตติ ผลแห้ง เมล็ดล่อน มีเมล็ดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกกลม[2]

สรรพคุณของพญามุตติ

  1. ทั้งต้นมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ช่วยระงับประสาท (ทั้งต้น)[2]
  3. ตำรายาไทยจะใช้ใบเป็นยารักษาอาการไอ (ใบ)[1],[2]
  1. น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหู รักษาอาการหูเจ็บ (ใบ)[1],[2]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ รักษาอาการท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ทั้งต้น)[1],[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ทั้งต้น)[1]
  4. ในประเทศอินเดียจะใช้ใบเป็นยารักษาอาการปวดท้อง และเป็นยาระบาย (ใบ)[2]
  5. ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นเป็นยาขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[2] ส่วนประเทศอินเดียจะใช้ใบทำเป็นยาป้ายลิ้นสำหรับขับระดูและแก้ฮีสทีเรีย (ใบ)[2]
  6. ใบมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ใช้เป็นยาปฏิชีวนะชำระบาดแผล (ใบ)[1],[2]
  7. ทั้งต้นและรากใช้ตำพอกหรือทาแก้โรคอีสุกอีใส (ทั้งต้นและราก)[2]
  8. ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้สมุนไพรพญามุตติทั้งต้น นำมาตำพอกแก้อาการปวดบวม (ทั้งต้น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพญามุตติ

  • สารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นพญามุตติ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อบิด ลดการบีบตัวของลำไส้ กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในสัตว์ทดลอง มีการทดลองในสตรีมีครรภ์พบว่ากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจทำให้แท้งได้[2]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นพญามุตติ พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง (มีค่า LD50 = 681 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พญามุตติ”.  หน้า 523-524.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พญามุตติ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [11 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, 翁明毅, Tony Rodd, Dr Asha Rani Arora)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด