ฝ้ายแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝ้ายแดง 7 ข้อ !

ฝ้ายแดง

ฝ้ายแดง ชื่อสามัญ Ceylon cotton, Chinese cotton, Tree cotton[2],[3]

สมุนไพรฝ้ายแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gossypium arboreum L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1]

ลักษณะของฝ้ายแดง

  • ต้นฝ้ายแดง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบต้นเป็นพุ่มโปร่ง มีกิ่งก้านที่แข็งแรง เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดมาก ขึ้นได้ในดินอุดมทั่วไป ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนและกึ่งร้อน แอฟริกา มักขึ้นบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป[1],[2],[3],[4]

ต้นฝ้ายแดง

  • ใบฝ้ายแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมนเว้า ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉกคล้ายฝ่ามือ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร หลังใบเรียบ เส้นใบเป็นสีแดงแตกออก ก้านใบเป็นสีแดงเช่นเดียวกับเส้นใบ[1],[2],[3]

ใบฝ้ายแดง

  • ดอกฝ้ายแดง ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบใกล้บริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแดงเข้มหรือสีเหลืองอ่อน ตรงกลางดอกเป็นสีม่วงแดงหรือสีม่วงดำประแต้มไปด้วยสีเหลือง ใบประดับ 3 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกบางมี 5 กลีบ วางเรียงเวียนซ้อนกัน ดูสวยงาม โคนกลีบดอกติดกัน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 5 แฉก[1],[2],[3]

ดอกฝ้ายแดง

รูปดอกฝ้ายแดง

  • ผลฝ้ายแดง ผลมีลักษณะกลมเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หัวท้ายแหลม ผิวผลลื่นสีเขียวอมแดง มีกลีบรองดอกหุ้มอยู่ พอแก่จะแตกออกเป็นปุยฝ้าย เมล็ดค่อนข้างกลมสีเขียว มีจำนวนมาก ปกคลุมไปด้วยขนยาวสีขาว[1],[3]

ผลฝ้ายแดง

เมล็ดฝ้ายแดง

สรรพคุณของฝ้ายแดง

  1. ใบสดมีรสเย็นเบื่อ ใช้ปรุงเป็นยากินแก้ไข้ ช่วยขับเหงื่อ (ใบสด)[1],[2],[3] หรือใช้ใบผสมในตำรายาแก้ไข้ ลดความร้อน (ใบ)[4]
  2. ใบสดใช้เป็นยาแก้พิษตานซางในเด็กได้ดี (ใบสด)[1],[2],[3]
  3. เปลือกรากนำมาบดให้เป็นผงใช้ชงกับน้ำเดือดกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)[3]
  4. ผงที่บดได้จากเปลือกรากใช้ชงดื่มเป็นยาช่วยบีบมดลูก ทำให้แท้ง และช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี (เปลือกราก)[3],[5]
  5. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน (เมล็ด)[4]

ข้อควรระวัง : สตรีตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้[4]

ประโยชน์ของฝ้ายแดง

  • น้ำมันจากเมล็ดใช้ในการเตรียมสบู่และใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่น[5]
  • ใช้ปลูกไว้ดูเล่น ปลูกกันตามบ้านและวัด หรือใช้ทำเป็นรั้วบ้าน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ฝ้ายแดง (Fai Daeng)”.  หน้า 186.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ฝ้ายแดง”.  หน้า 518-519.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฝ้ายแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [13 พ.ย. 2014].
  4. หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ.  “ฝ้ายแดง”.
  5. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อมูลของฝ้ายแดง”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [13 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chatchai Powthongchin, Jim Mayes, SierraSunrise), pantip.com (by นกฮูกสีน้ำตาล)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด