ฝ้ายขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝ้ายขาว 20 ข้อ !

ฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว ชื่อสามัญ Cotton plant[2],[4], Cotton, Sea Iceland Cotton[5]

ฝ้ายขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium herbaceum L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1]

สมุนไพรฝ้ายขาว มีชื่ออื่น ๆ ว่า ฝ้าย ฝ้ายไทย ฝ้ายหีบ (ไทย), เหมียวฮวา เฉ่าเหมียนฮวา (จีนกลาง)[2],[3], ฝ้ายดอก (เชียงใหม่), ฝ้ายชัน (ลำปาง), ฝ้ายเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฝ้ายตุ่น เป็นต้น[5]

ลักษณะของฝ้ายขาว

  • ต้นฝ้ายขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย ลำต้นเป็นสีเขียวมีลักษณะตั้งตรง มีขนละเอียดขึ้นหนาแน่นขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้[1],[2],[3]

ต้นฝ้ายขาว

  • ใบฝ้ายขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ใบแยกออกเป็นแฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบและเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ใบฝ้ายขาว

  • ดอกฝ้ายขาว ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีใบประดับหุ้ม ปลายใบประดับเป็นเส้นแหลมประมาณ 12 เส้น กลีบดอกบางมี 5 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างกลมเป็นสีขาวอมเหลือง ออกเรียงซ้อนกัน แต่ละกลีบกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ใจกลางดอกเป็นสีม่วงอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้มากมายรวมอยู่ในดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และขอบเป็นฟันเลื่อย 6-8 หยัก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2],[3]

ดอกฝ้ายขาว

  • ผลฝ้ายขาว ผลมีลักษณะเป็นรูปกลม เป็นผลแห้ง แตกได้ตามพูเป็น 3-4 ซีก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมและแข็ง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปุยสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ จะออกผลเมื่อดอกแก่ร่วงไปแล้ว[1],[2],[3]

ผลฝ้ายขาว

ฝ้ายหีบ

ปุยฝ้ายขาว

เมล็ดฝ้ายขาว

สรรพคุณของฝ้ายขาว

  1. รากมีรสชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้กระษัยลม (ราก)[3]
  3. น้ำมันจากเมล็ดมีสรรพคุณช่วยลดระดับไขมันเลือด (น้ำมันจากเมล็ด)[4]
  4. รากมีสรรพคุณแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ (ราก)[3]
  5. รากใช้เป็นยาแก้หอบ (ราก)[3]
  6. รากนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากรากมาให้ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบรับประทาน พบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายเป็นปกติได้ คิดเป็น 70-80% (ราก)[3]
  1. เมล็ดใช้เป็นยารักษาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ (เมล็ด)[3]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือด (เมล็ด)[3]
  3. รากและเปลือกรากมีรสขื่นเอียน ใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ช่วยขับหรือแก้มุตกิดตกขาว ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง อาจทำให้แท้งบุตรได้ง่าย สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ (ราก, เปลือกราก, เปลือกลำต้น)[1],[2]
  4. เมล็ดใช้เป็นยาแก้สตรีตกเลือด รวมถึงตกขาว (เมล็ด)[3]
  5. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม (เมล็ด)[3]
  6. ช่วยแก้อาการตัวบวม (ราก)[3]
  7. เมล็ดมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงไต ทำให้ไตอบอุ่น (เมล็ด)[3]
  8. ใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบเรื้อรัง เมื่อใช้รากเข้ากับตำรายารักษาแก้ตับอักเสบ โดยใช้รากเป็นยาหลัก ใช้วันละ 15 กรัม รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าร่างกายของผู้ป่วยมีการผลิตเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ทำให้อาการอักเสบน้อยลงและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (ราก)[3]
  9. รากใช้เป็นยาห้ามเลือด (ราก)[3]
  10. น้ำมันจากเมล็ดมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อน แก้ฝีหนองภายนอก (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
  11. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาแก้แผลมีหนองเรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้น รวมถึงช่วยบีบมดลูกเพื่อช่วยลมเบ่ง (น้ำมันจากเมล็ด)[4]

ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน การใช้ภายนอกให้ใช้น้ำต้มชะล้างบาดแผลหรือใช้น้ำที่ต้มมาอาบร่างกาย[3] ส่วนการใช้น้ำมันจากเมล็ดตาม [4] ให้นำน้ำมันเมล็ดฝ้ายผสมปรุงในอาหาร เช้าและเย็น หรือใช้บรรจุแคปซูลกิน 1-2 แคปซูล เช้าและเย็น[4]

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกัน ยังมีฝ้ายอีกหลายชนิด เช่น Gossypium hirstum L., Gossypium barbadense L. ซึ่งแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน และสามารถนำมาใช้แทนกันได้[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของฝ้ายขาว

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ alamine, apocynin, aspartic acid, glutamic acid, glycine, gossypetin, gossyptrin, gossypol, kaempferol, palmitic acid, phytin, satirane, serine, thrconin, tocopherol, triacontane[4]
  • ในเมล็ดและเปลือกราก พบสาร Acetovanilone, Asparagin, Berbacitrin, Cossypitrin, Gossypetin, Kaempferol, Quercimeritri นอกจากนั้นในเมล็ดยังพบน้ำมันอีกด้วย[3]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการหลั่งของอินซูลิน ลดระดับไขมันในเลือด ทำให้น้ำหนักตัวลดลง ลดระดับฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) ยับยั้งการสร้างอสุจิ คุมกำเนิด ขับปัสสาวะ เป็นต้น[4]
  • เมื่อนำสาร Gossypol ที่สกัดได้จากรากฝ้ายขาว ให้หนูทดลองที่มีอาการไอกินหรือฉีดเข้าตัวของหนู พบว่าสามารถยับยั้งอาการไอและขับเสมหะได้[3]
  • สารที่สกัดได้จากใบ กิ่ง และรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหนูทดลอง และทำให้มดลูกของหนูทดลองมีกำลังการบีบแรงขึ้น[3]
  • สารสกัดจากกิ่งและรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อ Coccus, Staphelo coccus, และเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัดได้[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าน้ำมันฝ้ายดิบในอาหาร 40% เมื่อนำมาให้หนูขาวทั้งสองเพศ กินติดต่อกัน 14 เดือน ไม่เกิดอาการเป็นพิษ[4]
  • เมื่อปี ค.ศ.1960 ประเทศบราซิล ได้ทำการศึกษาทดลองผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองในคนไข้ที่เป็นโรคเส้นเลือดแข็งจำนวน 80 ราย เป็นเวลา 15-30 วัน แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มที่ 1 ให้น้ำมันทานตะวัน, กลุ่มที่ 2 ให้น้ำมันเมล็ดฝ้าย, กลุ่มที่ 3 ให้น้ำมันข้าวโพด, กลุ่มที่ 4 ให้น้ำมันมะกอก ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ 1, 2, 3 มี β-Lipoprotein และ albumin ระดับลดลง ยกเว้นกลุ่มที่ 3 ที่มีระดับสูงขึ้น และพบว่าระดับของคอเลสเตอรอลรวมมีระดับต่ำลงทุกกลุ่ม[4]
  • เมื่อปี ค.ศ.1961 ประเทศอาหรับ ได้ทำการศึกษาทดลองผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือด โดยทำการศึกษาทดลองในหนูขาว (albio rat) โดยการให้น้ำมันฝ้าย เปรียบเทียบกับหนูที่ให้น้ำมันมะกอก ในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง และให้ Nicoticin acid 10 mg./rat.day ระยะเวลาทำการทดลองนาน 60 วัน ผลการทดลองพบว่า น้ำมันฝ้ายมีผลทำให้คอเลสเตอรอลลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันมะกอก และพบสารต่าง ๆ คือ dehyolrocholic acid, p-aminobenzoic acid phenylpropionic a[4]
  • เมื่อปี ค.ศ.1998 ประเทศปากีสถาน ได้ทดลองหาผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือด ซึ่งทำการทดลองจาก Hemicellulose fraction ในขบวนชีววิทยา ซึ่งพบสารที่ทำการลดไขมันในเลือด (Hypocholesteremic agent) ได้จากการสกัดจาก lignocelluloses ของพืชที่ไม่มีแก่นไม้ เช่น ฝ้าย เป็นต้น[4]
  • เมื่อปี ค.ศ.2001 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือดสูง โดยทำการทดลองกับหนูเพศผู้ที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยทดลองเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ แบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้น้ำมันข้าวโพดผสมน้ำมันเมล็ดฝ้ายในอัตราส่วน 1:1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ทดลองเปรียบเทียบให้น้ำมันเมล็ดฝ้ายอย่างเดียว และกลุ่มที่ 3 ให้น้ำมันข้าวโพดอย่างเดียว ผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ 1 และ 3 ไม่พบความแตกต่างของระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่กลุ่มที่ 2 ที่ให้น้ำมันเมล็ดฝ้าย พบว่ามีผลทำให้คอเลสเตอรอลรวมต่ำลง เนื่องจากน้ำมันเมล็ดฝ้ายมีสารจำพวก saturated fatty acid ระดับต่ำกว่าน้ำมันข้าวโพด[4]

ประโยชน์ของฝ้ายขาว

  • เมล็ดฝ้ายใช้สกัดเอาน้ำมันเพื่อเป็นอาหาร ใช้เป็นน้ำมันหุงต้ม และใช้ในอุตสาหกรรม[5]
  • ใยฝ้ายสีขาวหรือปุยฝ้าย สามารถนำมาใช้กรอทำเป็นเส้นสำหรับใช้ทอเป็นผืนผ้า เรียกว่า “ผ้าฝ้าย[2]
  • โดยทั่วไปแล้วปุยฝ้ายมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ผลิตได้จะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้อื่น ๆ ส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ทำเชือก ทำถุง ทำสายพานต่าง ๆ และยางรถ ส่วนเส้นใยที่สั้นจะนำมาใช้ทำพรมและเครื่องใช้อื่น ๆ ส่วนเส้นใยที่ติดแน่นอยู่กับเมล็ดจะนำมาใช้ทำเส้นใยเทียม เช่น เรยอน และผลผลิตอื่น ๆ ที่ทำจากเซลลูโลส ปุยฝ้ายใช้ทำสำลีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และใช้เตรียมเป็นยาแผนปัจจุบันหลายชนิด[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ฝ้าย (Fai)”.  หน้า 185.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ฝ้ายขาว”.  หน้า 517-518.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ฝ้ายขาว”.  หน้า 364.
  4. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ฝ้าย”  หน้า 128-129.
  5. พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฝ้าย”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชไร่ Guide for Field Crops in Tropics and the Subtropics Samuel.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm.  [14 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Joaquín Ramírez, Pato Novoa, judymonkey17, Tim Waters, Linda De Volder, kukkaelixiiri, Joel Ignacio )

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด