โรคฝีมะม่วง
ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum – LGV หรือบางครั้งเรียกว่า Bubo) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่พบได้บ้างประปรายประมาณ 2-5% ของโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในอดีตพบได้มากในแถบเอเชียและแอฟริกา แต่ในปัจจุบันพบมากขึ้นในแถบยุโรปและอเมริกา
สาเหตุของโรคฝีมะม่วง
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส ชนิด L1, L2, L3 (Chlamydia Tracho matis L1-L3) ซึ่งติดต่อโดยการร่วมเพศหรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคฝีมะม่วง คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะร่วมเพศทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด การมีคู่นอนหลายคน การมีรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
โรคนี้มีระยะการฟักตัวประมาณ 3-30 วัน ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ โดยการเกิดแผลมักจะเกิดขึ้นภายใน 3-10 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักจะเกิดขึ้นประมาณ 10-30 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ
อาการของโรคฝีมะม่วง
อาการของโรคแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะ Primary LGV (ระยะแผล) : เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็ก ตื้น ๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศก่อน หรืออาจเกิดขึ้นที่อัณฑะหรือทวารหนักก็ได้ โดยที่ไม่มีอาการเจ็บหรือปวด และแผลจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ซึ่งเพราะไม่มีอาการเจ็บหรือปวดนี้เอง จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตเห็น
- ระยะ Secondary LGV (ระยะฝี) : ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมากจนอาจเดินไม่ได้ (เรียกตามภาษาทั่วไปว่า “ไข่ดันบวม“) ตรงกลางจะเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกโรคนี้ว่า “ฝีมะม่วง” ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ และผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ มีลักษณะบวม แดง ร้อนร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด หรือบางรายอาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาอักเสบ ปวดข้อ ผื่นขึ้นตามตัว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ฝีอาจยุบหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหลจนกลายเป็นแผลเรื้อรังได้
- ระยะ Tertiary LGV : ระยะนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อมานานถึง 20 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้อักเสบ มีอาการคันก้น มีหนองและเลือดออกจากทวารหนัก ปวดเบ่ง อุจจาระลำเล็กลง น้ำหนักตัวลด และอาจมีการตีบตันของทวารหนักหรือทวารหนักมีก้อนเหมือนริดสีดวง
ฝีมะม่วงเป็นโรคที่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะในผู้หญิงน้ำเหลืองจากอวัยวะเพศจะระบายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องเชิงกรานมากกว่ามาที่ขาหนีบ
- ในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้แม้จะมองไม่เห็นต่อมน้ำเหลืองโตในระยะฝี แต่นานไปก็จะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นรอบ ๆ ช่องคลอดและทวารหนักได้เช่นกัน มีผลทำให้เกิดการตีบแคบของช่องคลอดและทวารหนัก หรือมีการอุดตันของท่อน้ำเหลืองจนทำให้อวัยวะเพศขยายได้เช่นเดียวกับในผู้ชาย
- โรคนี้อาจลุกลาม เกิดการอักเสบของทวารหนักจนตีบตัน และถ่ายอุจจาระไม่ออกได้ ซึ่งมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง
ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากโรคฝีมะม่วงสามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่รักษาหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนี้
- อาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศภายนอกมีอาการบวมได้ เช่น อัณฑะบวม ปากช่องคลอดบวม
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ขาหนีบ หรือแผลที่ขาหนีบหายช้า หรือเป็นฝีคัณฑสูตรได้
- มีน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหลต่อเนื่องจากการผ่าก้อนฝีที่ขาหนีบ
- ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ อาจเกิดการตีบตันของรูทวารหนัก หากมีการร่วมเพศทางทวารหนัก ซึ่งอาจต้องแก้ไขการตีบตันด้วยวิธีการผ่าตัด
- หากปล่อยไว้นาน ๆ นอกจากจะทำให้เกิดแผลแล้ว ถ้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบ ๆ ทวารหนักในผู้หญิงอักเสบมาก อาจทำให้เกิดพังผืดแข็ง แล้วต่อมาจะแตกและเกิดเป็นรูต่อระหว่างช่องคลอดกับทวารหนักได้ หรืออีกอย่างถ้าเกิดการอักเสบมาก ๆ อาจทำให้น้ำเหลืองไหลกลับไม่ได้ก็จะเกิดการบวมน้ำของอวัยวะเพศ
- อื่น ๆ เชื้ออาจลามไปสมอง (พบได้น้อยมาก), เชื้อลามไปข้อ หัวใจ ตับ
- ในปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มของการเกิดสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันและในกลุ่มที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบของช่องทวารหนักอย่างมาก (Ulcerative proctitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดก้น อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา มีหนองไหลทางรูทวาร และมีเลือดออกทางทวารหนักได้
- โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง หากไม่รักษาหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้แพร่เชื้อไปยังคู่นอน (ฝ่ายหญิง) ของตนได้ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศหรือเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จนนำไปสู่การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก การปวดท้องน้อยเรื้อรัง การอักเสบที่ลูกอัณฑะ (ในฝ่ายชาย) หรือในกรณีที่เกิดการอักเสบที่รูทวารก็จะทำให้ผู้ป่วยปวดทวารตลอดเวลาและอาจถ่ายอุจจาระไม่ออก หรืออาจเกิดการตีบตันของรูทวารหนัก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแทบทั้งสิ้น
การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง
หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว แพทย์อาจดูจากลักษณะของแผลเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากแผลของโรคเริมอวัยวะเพศ แผลของโรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน แต่บางครั้งแผลที่อวัยวะเพศอาจหายไปแล้วและคงเหลือเฉพาะก้อนที่ขาหนีบ ลักษณะบวมโต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวม ถ้ากดจะรู้สึกเจ็บมาก ส่วนการตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia Tracho matis) นั้นทำได้ยาก และสามารถทำได้เฉพาะในบางโรงพยาบาลหรือบางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรคนี้จึงมักได้จากการดูประวัติอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก ยกเว้นในกรณีที่สงสัยมากก็จะมีการส่งเลือดหรือปัสสาวะไปตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการพิเศษ
นอกจากนั้น แพทย์อาจต้องทำการตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระยะแฝงอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ เป็นต้น
วิธีรักษาฝีมะม่วง
- เมื่อมีอาการผิดปกติต่าง ๆ มีแผลที่อวัยวะเพศ หรือขาหนีบบวม ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเสมอ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะอาจใช้ยาไม่ตรงกับชนิดของโรค จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย
- การรักษาโรคฝีมะม่วงจะต้องรักษาไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยและคู่นอนทุกคนเพื่อให้โรคหายและไม่เป็นพาหะโรคอยู่ที่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย
- สิ่งที่ควรทำในระหว่างที่รอไปพบแพทย์
- หากมีอาการปวดมาก ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ถ้าไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ประคบอุ่นบริเวณที่ปวด บวม แดง โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นจัด ๆ บิดผ้าให้แห้ง แล้ววางลงบนตำแหน่งที่มีอาการปวดครั้งละประมาณ 10-15 นาที ทุก 8 ชั่วโมง
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและขาหนีบ หรือถ้าฝีแตกแล้วก็ให้รักษาความสะอาดบริเวณนั้นให้ดี
- ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในขณะยังมีก้อนที่ขาหนีบหรือจนกว่าโรคจะหายสนิท และควรไปตรวจเลือดเพื่อดูการติดโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ฯลฯ เพื่อให้การรักษาโรคเหล่านี้ร่วมไปด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะ สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้หลายชนิด เช่น
- ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เป็นยาที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 14 วัน
- เตตราไซคลีน (Tetracycline) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันนาน 14 วัน
- ถ้าฝียังไม่ยุบและมีลักษณะนุ่ม แพทย์อาจใช้เข็มฆ่าเชื้อเบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยา แล้วทำการเจาะดูดเอาหนองออก (แพทย์มักไม่ผ่าฝีมะม่วงให้เป็นแผลยาว ๆ เพราะจะทำให้แผลหายช้า อาจทำให้เกิดเป็นรอยทะลุที่มีหนองไหลตลอดเวลา (Fistula) หรืออาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณนั้นได้)
- โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ในคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายปกติ แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น เป็นโรคเอดส์ ก็จะมีแนวโน้มการติดเชื้อซ้ำหรือรักษาแล้วไม่หายขาด อาจต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะ โดยการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาการตอบสนองของโรคต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่าง ๆ
- ภายหลังการรักษา 3 เดือน ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL) และเชื้อเอชไอวี เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ
- ความเชื่อเกี่ยวกับของแสลงสำหรับโรคนี้ เช่น หูฉลาม อาหารทะเล สาเก หน่อไม้ เป็นต้น ทางวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด แต่ที่แน่นอน คือ ต้องงดการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 เดือน เพราะอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น ส่วนอาหารอื่น ๆ ถ้าพบว่ากินแล้วทำให้หนองไหลมากขึ้นหรืออาการกำเริบใหม่ก็ควรจะงด
วิธีป้องกันฝีมะม่วง
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันการเกิดโรคฝีมะม่วงได้ดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงการเที่ยวกลางคืนหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นโรคก็ควรจะสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ (ฟอกล้างด้วยสบู่) หลังการร่วมเพศทันทีทุกครั้ง (การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย)
- การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วจะไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้
- หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum/LGV)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1046-1047.
- Siamhealth. “ฝีมะม่วง Lymphogranuloma Venereum (LGV)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [27 พ.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 24 คอลัมน์ : โรคน่ารู้. (อุทิศ มหากิตติคุณ). “กามโรค (ตอนจบ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [28 พ.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.cmaj.ca, hubpages.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)