ฝีฝักบัว
ฝีฝักบัว (Carbuncle) คือ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือชนิดสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) ที่ต่อมไขมันและที่ขุมขนของผิวหนัง แล้วลุกลามจนรวมกันเป็นกลุ่มก้อนมีหนองสะสม มีลักษณะเป็นก้อนหนองหลายก้อนติดกัน เรียกว่า “ฝีฝักบัว” ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงอัตราการเกิดของโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่พบว่าเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยและพบได้มากในเมืองร้อน
อนึ่ง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “ฝีฝักบัว” หมายถึง ฝีชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามหลังและต้นคอ มีลักษณะเหมือนฝักบัว เพราะมีหัวฝีหลายหัวขึ้นติด ๆ กัน (ส่วนคำว่า ฝี หมายถึง โรคจำพวกหนึ่งที่เป็นต่อมบวมขึ้นกลัดหนองข้างใน)
สาเหตุของฝีฝักบัว
สาเหตุการเกิดฝีฝักบัวจะเริ่มมาจากผิวหนังเกิดมีรอยถลอกบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น จากการเสียดสี การแกะหรือเกา หรือจากการที่มือสัมผัสสิ่งสกปรกต่าง ๆ แล้วไปสัมผัสรอยบาดเจ็บนั้น ๆ เมื่อรอยบาดเจ็บเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือชนิดสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) เชื้อเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ผิวหนังและลุกลามรุนแรงกลายเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นก้อนหนองซึ่งมีหลายหัวติด ๆ กัน
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ การเกิดโรคจะอาศัยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ การบาดเจ็บที่ผิวหนังที่เกิดอยู่ก่อน และเชื้อก่อโรค (เชื้อแบคทีเรีย) ที่อยู่ที่ผิวหนัง ซึ่งการล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรคเหล่านี้ได้
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคฝีฝักบัวได้ง่ายขึ้น คือ
- ผู้ที่บริเวณผิวหนังดังกล่าว (โดยเฉพาะคอและหลัง) มีการเสียดสีหรือเกิดแผลได้ง่าย
- เป็นผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ไม่รักษาสุขอนามัยตนเอง ไม่รักษาความสะอาดในการโกน ขน ผม หนวด เครา
- ผู้ที่มีสุขภาพโดยรวมไม่ดี มีโรคประจำตัวต่าง ๆ หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยเบาหวาน, โลหิตจาง, ขาดสารอาหาร, ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (เช่น ในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ), ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เป็นต้น
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังที่กล่าวไปแล้ว
อาการของฝีฝักบัว
มักขึ้นเป็นตุ่มหรือก้อนบวมแดงและปวดที่ผิวหนัง กดถูกเจ็บ เมื่อขึ้นใหม่ ๆ จะมีลักษณะแข็ง ตุ่มนี้จะขยายโตขึ้นและเจ็บมาก ต่อมาจะค่อย ๆ นุ่มลงและกลัดหนอง ถ้าขึ้นเพียงตุ่มเดียวหรือหัวเดียวจะเรียกว่า “ฝี” (Abscess) แต่ถ้าขึ้นหลายตุ่มติด ๆ กันจะเรียกว่า “ฝีฝักบัว” (เนื่องจากดูคล้ายกับฝักบัว) ต่อมาตุ่มหนองเหล่านี้จะแตกออกและมีหนองไหลออกมา แล้วอาการเจ็บปวดจะทุเลาลง (หากฝีอยู่ตื้นมักจะแตกเองได้ แต่หากอยู่ลึกมักจะไม่แตกเอง)
ฝีฝักบัวนี้มักพบขึ้นที่บริเวณหลังและคอ และในรายที่ติดเชื้อมากอาจมีไข้และอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย โดยโรคจะหายอย่างช้า ๆ และมักเกิดเป็นแผลเป็นตามมา
ภาวะแทรกซ้อนของฝีฝักบัว
ในรายที่มีการติดเชื้อลุกลาม ฝีฝักบัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นวงกว้างได้ โดยจะส่งผลให้
- มีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
- การติดเชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ เช่น กระดูก เกิดกระดูกอักเสบ
- เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ เกิดเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- เชื้อดื้อยา
- เมื่อแผลหายมักกลายเป็นแผลเป็น
การวินิจฉัยโรคฝีฝักบัว
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากอาการที่แสดง การตรวจร่างกาย การตรวจรอยโรคด้วยการดูหรือคลำที่ตำแหน่งของรอยโรค และสามารถระบุชนิดของเชื้อก่อโรคได้โดยการส่งหนองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจเพาะเชื้อ
วิธีรักษาฝีฝักบัว
- หากมีตุ่ม ผื่น แดง กดเจ็บ มีหนอง เป็นฝีที่หน้า เป็นฝีใกล้กระดูกสันหลัง ก้อนฝีมีขนาดใหญ่และไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีฝีขึ้นหลายหัวติด ๆ กัน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป
- ให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ การรักษาความสะอาดบริเวณรอยโรคด้วยการทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ ที่มียาฆ่าเชื้อร่วมกับการทายาฆ่าเชื้อชนิดครีมหลังจากทำความสะอาดแล้ว เป็นต้น
- ถ้าเป็นโรคฝีฝักบัว สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) หรือไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วมักจะหายได้ดีและเร็ว แต่ภายหลังโรคหายอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ ส่วนชนิดของยาปฏิชีวนะที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรอยโรค ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาเหล่านี้มารับประทานเอง
- หากเป็นแผลที่มีหนองคั่งค้างหรือมีเนื้อตาย อาจต้องผ่าฝีเพื่อระบายเอาหนองออก หรือผ่าตัดเนื้อที่ตายแล้วออก ซึ่งจำเป็นต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาล เนื่องจากการทำเองอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายมากขึ้นหรือลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้
- การดูแลรักษาตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองแม้ฝีจะยุบหายไปหมดแล้วก็ตาม
- ห้ามบีบหรือเจาะหนองออกเอง
- ควรตัดเล็บให้สั้น ไม่แกะไม่เกาที่ผิวหนังให้เกิดการบาดเจ็บและเป็นทางเข้าของเชื้อก่อโรค
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาสุขอนามัยของผิวหนังตามปกติ ใช้สบู่ทำความสะอาดเมื่ออาบน้ำ โดยอาจใช้สบู่อ่อนที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อก็ได้
- ประคบอุ่นหรือประคบร้อนที่รอยโรควันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ซึ่งจะช่วยทำให้หนองแตกและระบายดีขึ้น (อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัด ๆ ขนาดที่พอทนได้ แต่อย่าร้อนจนเกินไป)
- เมื่อหนองแตกควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง โดยใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค (ปรึกษาเรื่องการดูแลได้จากแพทย์หรือพยาบาล) และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังทำแผลเสร็จ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง (ปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ) และรักษาหรือควบคุมโรคประจำตัวต่าง ๆ ให้ดี
- รักษาความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน ฯลฯ และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น
- ภายหลังเข้ารับการรักษา ถ้าอาการต่าง ๆ เลวลง รอยโรคยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ มีรอยโรคแดง ขยาย หรือลามมากขึ้น หรือมีอาการไข้ หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเสมอ
- สมุนไพรรักษาฝีฝักบัว (ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม) มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่
- กระดูกไก่ดำ หรือ เฉียงพร้ามอญ (Justicia gendarussa Burm.f.) ใช้ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ฝีฝักบัว
- ครอบฟันสี (Abutilon indicum (L.) Sweet) ใช้เมล็ด 1 ช่อ นำมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาชงกับน้ำสุกอุ่น ๆ ใช้รับประทาน และให้ใช้ใบสดนำมาตำผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำตาลแดงก็ได้ แล้วนำมาพอกที่แผล
- คอนสวรรค์ (Ipomoea quamoclit L.) ใบนำมาตำพอกเป็นยารักษาฝีฝักบัว
- ดาวเรือง (Tagetes erecta L.) น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้ฝีต่าง ๆ ฝีฝักบัว ฝีพุพอง
- โด่ไม่รู้ล้ม (Elephantopus scaber L.) ใช้ต้นสดประมาณ 25 กรัม ใส่เหล้า 1 ขวด และน้ำ 1 ขวด แล้วนำมาต้มดื่ม และใช้ต้นสดต้มกับน้ำ เอาน้ำล้างบริเวณหัวฝีที่แตก
- พุดตาน (Hibiscus mutabilis L.) ใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มน้ำกินเป็นยาแก้ฝีฝักบัว และแผลเน่าเปื่อยต่าง ๆ
- ลิเภา (Lygodium flexuosum (L.) Sw.) ใช้ใบใช้ตำพอกรักษาโรคฝีฝักบัว
- หูปลาช่อน (Emilia sonchifolia (L.) DC. ex DC.) ใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 30-90 กรัม ส่วนแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม
- แอหนัง (Crossostephium chinense) ใช้ใบสดนำมาตำพอกรักษาฝีฝักบัว แก้ฝีหนองภายนอก
- สมุนไพรอื่น ๆ ที่ระบุว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝีฝักบัว (แต่ในตำราไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้) เช่น รากต้นแก้ว (Murraya paniculata (L.) Jack), ทั้งต้นขึ้นฉ่าย (Apium graveolens L.), น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน (Helianthus annuus L.), ส่วนของต้นนมสวรรค์ (Clerodendrum paniculatum L.), ส่วนของต้นสดพลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.), ผลยอ (Morinda citrifolia L.), เถาหรือใบสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) เป็นต้น
วิธีป้องกันฝีฝักบัว
- ควรระวังอย่าให้ผิวหนังมีรอยถลอกหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น จากการเสียดสี การแกะหรือเกา หรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
- รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ รักษาความสะอาดในการโกน ขน ผม หนวด เครา และหมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน ฯลฯ
- รักษาหรือควบคุมโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ให้ดี
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ฝี (Abscess/Boils/Furuncles)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 986-987.
- หาหมอดอทคอม. “ฝีฝักบัว (Carbuncle)”. (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [15 ส.ค. 2016].
- Siamhealth. “ฝีฝักบัวหรือที่เรียกว่า Carbuncle”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siamhealth.net. [16 ส.ค. 2016].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “กระดูกไก่ดํา”, “คอนสวรรค์”, “หูปลาช่อน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 19-20, 172-173, 827-829.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ดาวเรืองใหญ่ (Dao Rueang Yai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 113.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แอหนัง“. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 654.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โด่ไม่รู้ล้ม”, “ลิเภา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [16 ส.ค. 2016].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ครอบฟันสี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [16 ส.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 5 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “พุดตาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [16 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)