ฝีเต้านม (Breast abscess) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ฝีเต้านม (Breast abscess) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ
ฝีเต้านม (Breast abscess) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ฝีที่เต้านม

ฝีเต้านมฝีที่เต้านม หรือ เต้านมเป็นฝี (Breast abscess) คือ ภาวะเต้านมอักเสบที่มีก้อนฝีหนองอยู่ภายใน ซึ่งเกิดต่อเนื่องมาจากภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ที่ไม่ได้รับการรักษา เต้านมอักเสบที่อาการไม่ดีขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ฝีที่เต้านมเป็นภาวะที่พบได้บ้างเป็นครั้งคราวในผู้หญิงที่ให้นมบุตรในระยะเดือนแรก ๆ (มักเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด)

หมายเหตุ : ฝี คือ น้ำหนองที่รวมกันเป็นกลุ่ม หากเกิดที่เต้านม ผิวหนังเหนือบริเวณฝีอาจเปลี่ยนแปลงเป็นคล้ำหรือช้ำเลือดช้ำหนอง

สาเหตุของฝีที่เต้านม

ฝีเต้านมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) โดยเชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าไปในเต้านมผ่านทางหัวนมและลานนมที่ปริหรือแตก และทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นฝีหนองตามมา

อาการของฝีที่เต้านม

  • เต้านมข้างที่เป็นฝีจะมีลักษณะบวมแดง ร้อน และเจ็บปวดมาก
  • คลำได้ก้อนที่กดเจ็บมากของเต้านม และสีของผิวหนังเหนือบริเวณที่มีก้อนเปลี่ยนไปจากปกติ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ข้างเดียวกับเต้านมข้างที่เป็นฝีจะโตและเจ็บร่วมด้วย
  • ถ้าหากปล่อยไว้ไม่รักษา บางครั้งอาจทำให้ฝีแตกและมีหนองไหลออกมาได้

วิธีรักษาฝีที่เต้านม

  1. ควรไปพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการเต้านมอักเสบหรือมีฝีที่เต้านม
  1. หากมีอาการปวดมาก ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ (Analgesics and Antipyretics) เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ตามความเหมาะสม
  2. ให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดฝี เช่น คล็อกซาซิลลิน (Cloxacillin), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), เซฟาเลกซิน (Cephalexin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ถ้ารับประทานยาปฏิชีวนะแล้วมีอาการดีขึ้น ให้รับประทานยาปฏิชีวนะนาน 1-2 สัปดาห์ (ระยะเวลาในการให้ยาจะขึ้นอยู่กับขนาดของฝี การหายของแผล และดุลยพินิจของแพทย์)
  3. ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องได้รับการระบายเอาหนองที่อยู่ในฝีออก โดยการใช้เข็มขนาดใหญ่ (เบอร์ 18) ต่อหลอดฉีดยาแทงผ่านเนื้อดีเข้าไปยังฝีเพื่อเจาะดูดหนองออกสลับกับฉีดล้างน้ำเกลือ (Needle aspiration) หรือผ่าตัดโดยใช้มีดกรีดผิวหนังระบายเอาหนองออก (Incision and Drainage) ควบคู่ไปกับการให้ยาปฏิชีวนะและบรรเทาอาการด้วยการประคบร้อนประคบเย็นไปตามเรื่อง
    • การเจาะดูดเอาหนองออกอาจต้องทำการเจาะดูดออกทุกวันจากมากกว่า 100 ซีซี วันรุ่งขึ้นอีก 50 ซีซี แล้วลดลงเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 10 ซีซี แล้วนัดห่างขึ้นเป็น 3 วัน 5 วัน 7 วัน จนกว่าหนองจะหมด ในกรณีที่ยากต่อการระบุตำแหน่งสามารถใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของฝีในระหว่างการเจาะดูดได้
    • ข้อดีของการเจาะดูดเอาหนองออกเมื่อเทียบกับการผ่าตัดกรีดระบายหนอง คือ ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งมักจะใช้เวลานานกว่าจะหาย และทิ้งรอยแผลเป็น แต่หากเจาะแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือฝีมีขนาดใหญ่มากก็จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อให้การระบายหนองสะดวกยิ่งขึ้น (การลงแผลผ่าตัดที่แนะนำมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบตามความเหมาะสม คือ ตามแนวรัศมีจากศูนย์กลาง แนวปานนม หรือใต้เต้านม และหลังผ่าตัดแล้วให้ทำแผลทุกวันจนกว่าจะหายดี)
    • ในแง่ของหลักฐานงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการระบายเอาหนองออกด้วยการใช้เข็มเจาะดูดกับการใช้มีดกรีดผิวหนังระบายหนองออก สรุปได้เพียงว่าทั้งสองวิธีให้ผลไม่ต่างกันหากฝีมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ในกรณีที่ฝีมีขนาดใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบ
    • สามารถให้นมลูกได้ในข้างที่เต้านมเป็นฝีที่ระบายเอาหนองออกแล้ว ยกเว้นในกรณีที่มีอาการเจ็บมากหรือการผ่าเป็นแผลขนาดใหญ่ใกล้ลานนม (รบกวนการดูดนมของลูก) หรือการผ่ามีการทำลายท่อน้ำนมมาก แต่อย่างไรก็ตาม ควรบีบน้ำนมหรือปั๊มน้ำนมออกก่อนเพื่อไม่ให้น้ำนมคั่งค้างเท่าที่จะทนได้ และให้ลูกดูดนมจากเต้าข้างที่ปกติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อดีขึ้นหรือแผลเริ่มหายก็สามารถกลับมาให้นมข้างนั้นได้อีกครั้ง ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 2-3 วันก็จะดีขึ้น
  4. สำหรับการดูแลตนเองเมื่อเป็นฝีที่เต้านม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    • ควรหยุดให้ลูกดูดนมข้างที่เป็นฝี แต่ยังให้ดูดข้างที่ปกติต่อไป ส่วนเต้านมข้างที่อักเสบให้ใช้นิ้วรีดเบา ๆ ให้น้ำนมไหลออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมคัด และช่วยให้หายจากอาการอักเสบได้เร็วขึ้น
    • ควรประคบเต้านมด้วยความร้อนทั้งก่อนและในระหว่างที่ให้ลูกดูดนม (ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดประคบเต้านมประมาณ 3-5 นาทีก่อนให้ลูกดูดนม) เพื่อช่วยลดอาการปวด และช่วยให้น้ำนมไหลดียิ่งขึ้น
    • หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้วหรือหลังจากปั๊มนมออกหมดแล้ว ให้ประคบเต้านมด้วยความเย็น เพื่อช่วยลดอาการปวดและลดอาการบวมของเต้านม
    • ควรพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอ
    • ควรใส่ยกทรงที่เหมาะสมไม่รัดรูปและช่วยพยุงเต้านมได้ดีก็จะช่วยลดอาการปวดลงได้
    • มีผลการวิจัยทดลองรักษาด้วยวิธีใหม่ที่สเปน ที่ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบกันระหว่างการรับประทานบักเตรีแลคโตบาซิลลัสแบบแคปซูล ซึ่งเป็นบักเตรีที่พบปกติในน้ำนม ร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะ พบว่ากลุ่มที่รับประทานบักเตรีแลคโตบาซิลลัสมีการเพิ่มจำนวนของบักเตรีแลคโตบาซิลลัสในน้ำนมได้มากกว่า มีอาการปวดดีขึ้นเร็วกว่า และมีอัตราการกลับมาเป็นเต้านมอักเสบซ้ำต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว ดังนั้น คุณอาจลองหานมเปรี้ยวมาดื่มด้วยก็ไม่เสียหลายนะครับ

วิธีป้องกันฝีที่เต้านม

  1. หมั่นรักษาความสะอาดหัวนมให้ดีด้วยการใช้น้ำต้มสุกกับสบู่ก่อนและหลังให้ลูกดูดนม
  2. ถ้าหัวนมแตก ให้ทาด้วยทิงเจอร์เบนโซอิน (Tincture of benzoin) และควรให้เด็กดูดนมครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ฝีเต้านม (Breast abscess)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 992-993.
  2. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “เต้านมเป็นฝี (breast abscess)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/.  [05 ธ.ค. 2016].
  3. DrSant บทความสุขภาพ.  “ฝีที่เต้านม จิ้มเข็มดูด จิ้มเข็มดูดลูกเดียว อย่ารีบผ่า”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [05 ธ.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “ภาวะเต้านมเป็นฝี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [05 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด