โรคฝีคัณฑสูตร
ทวารหนัก(Anus) คือ ส่วนที่ต่อมาจากลำไส้ตรง (Rectum) ซึ่งเป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ และเปิดออกสู่ภายนอก ทวารหนักมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยชั้นเยื่อเมือกบุผิว (Mucosa) ชั้นใต้เยื่อเมือกบุผิว (Submucosa) และชั้นของกล้ามเนื้อ โดยชั้นของกล้ามเนื้อจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นหูรูดภายใน (Internal anal sphincter) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบที่เราไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ และชั้นหูรูดภายนอก (External anal sphincter) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลายที่เราสามารถควบคุมการบีบหดตัวได้เมื่อตอนจะขับถ่ายนั่นเอง และบริเวณทวารหนักจะมีต่อมผลิตเมือก (Anal glands) เพื่อช่วยหล่อลื่นในขณะขับถ่าย ต่อมเหล่านี้จะมีทั้งชนิดที่อยู่ในชั้นใต้เยื่อเมือกบุผิวและของชั้นกล้ามเนื้อหูรูด โดยต่อมจะอยู่ตรงบริเวณรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงและทวารหนัก (Dentate line)
ฝีคัณฑสูตร (Anal fistula หรือ Fistula in ano) คือ โรคที่เกิดทางทะลุ (Fistula) ซึ่งเชื่อมต่อจากรูเปิดที่เยื่อบุในทวารหนักมายังรูเปิดที่ผิวหนังบริเวณรอบปากทวารหนัก โดยอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนตามหลังการแตกของฝีในบริเวณทวารหนัก (Anorectal abscess*) หรือเกิดจากการบาดเจ็บของทวารหนัก ฯลฯ ทำให้มีอาการหนองหรือน้ำเหลืองไหลซึมเรื้อรังร่วมกับอาการคันและปวดเจ็บรอบปากทวารหนัก ส่วนการรักษาต้องอาศัยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวจึงจะช่วยให้หายขาดได้
ฝีคัณฑสูตรเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ โดยมีอัตราการเกิดโรคประมาณ 9 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่อัตราส่วนในเพศชายจะพบได้มากกว่าประมาณ 2-3 เท่า และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุระหว่างอายุ 30-50 ปี
หมายเหตุ : ฝีในบริเวณทวารหนัก (Anorectal abscess) บางครั้งเรียกว่า “ฝีคัณฑสูตรเฉียบพลัน” โดยเป็นผลมาจากการอักเสบของต่อมผลิตเมือกในช่องทวารหนัก (Anal gland) ซึ่งมักเป็นซ้ำซ้อนและกลายเป็น “ฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง” (Fistula in ano) หรือ “ฝีคัณฑสูตร” ตามความหมายของบทความนี้
สาเหตุการเกิดฝีคัณฑสูตร
สาเหตุหลักเกิดจากการแตกของฝีในบริเวณทวารหนัก (Anorectal abscess) โดยจะเริ่มจากต่อมผลิตเมือกของทวารหนักเกิดการอุดตัน จึงทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อตามมา เมื่อติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบและพัฒนาเป็นฝีหนองในที่สุด ซึ่งหนองที่มีปริมาณมากขึ้นจะค่อย ๆ กัดเซาะไปตามชั้นของกล้ามเนื้อของทวารหนัก ชั้นของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และชั้นของผิวหนังที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก จนกระทั่งแตกทะลุออกสู่ภายนอก (อาจแตกเองหรือไม่แตกเองก็ได้) กลายเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างรูเปิดในทวารหนักกับผิวหนังรอบปากทวารหนัก เรียกว่า ทางทะลุ หรือ ลำราง (Fistula)
นอกจากสาเหตุหลักดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดทางทะลุได้ด้วยเช่นกัน ได้แก่
- เป็นแผลปริที่ปากทวารหนัก (Anal fissure)
- เป็นโรคมะเร็งทวารหนักหรือเป็นโรคมะเร็งผิวหนังบริเวณรอบปากทวารหนัก
- เป็นโรคลำไส้อักเสบชนิด Crohn’s disease (CD) หรือ โรคโครห์น
- เป็นผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณท้องน้อยและทวารหนักมาก่อน
- มีอาการท้องผูกเป็นประจำ อุจจาระแข็ง ทำให้เยื่อบุลำไส้ส่วนล่างอาจเป็นแผล
- เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณทวารหนักหรือเกิดการบาดเจ็บทวารหนัก
- การติดเชื้อเอชไอวี, การติดเชื้อซิฟิลิส, การติดเชื้อวัณโรค และการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis), คลามัยเดีย (Chlamydia)
- บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ชนิดของฝีคัณฑสูตร
ฝีคัณฑสูตรแบ่งออกเป็น 4 ชนิด โดยแบ่งตามเส้นทางการทะลุ ซึ่งจัดแบ่งโดยศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ชื่อ A. G. Parks จึงเรียกการแบ่งชนิดนี้ว่า Park’s classification of Anorectal fistulas
- Intersphincteric fistula เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 70% สามารถใช้นิ้วตรวจคลำหาได้ค่อนข้างง่าย โดยเริ่มต้นจากการอักเสบของต่อมผลิตเมือกแล้วกลายเป็นฝีหนองที่บริเวณระหว่างกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายในและภายนอก (Intersphincteric space) หลังจากนั้นฝีได้เซาะลงไปยังด้านล่างและเปิดออกสู่ภายนอกบริเวณใกล้ ๆ กับปากทวารหนัก ซึ่งทางทะลุนั้นอาจเกิดจากฝีแตกเอง หรือเกิดจากการผ่าฝีโดยแพทย์เพื่อระบายเอาหนองออกก็ได้
- Transphincteric fistula เป็นชนิดที่พบได้รองลงมา ประมาณ 25% การใช้นิ้วตรวจคลำหาเส้นทางของฝีค่อนข้างทำได้ค่อนข้างยาก โดยเริ่มต้นจากการอักเสบของต่อมผลิตเมือก แต่ฝีหนองที่เกิดได้ทะลุผ่านชั้นกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายในและภายนอก เมื่อหนองแตกก็จะเซาะผ่านกล้ามเนื้อดังกล่าวออกมาสู่ผิวหนังด้านนอกห่างออกไปจากปากทวารหนักมากกว่าชนิดแรก
- Suprasphincteric fistula เป็นชนิดที่พบได้น้อย ประมาณ 5% การใช้นิ้วตรวจคลำหาเส้นทางของฝีทำได้ค่อนข้างยาก โดยเริ่มต้นจากการอักเสบของต่อมผลิตเมือกแล้วกลายเป็นฝีหนองที่บริเวณระหว่างกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายในและภายนอก แต่เมื่อหนองแตกออกจะเซาะขึ้นไปด้านบนในตำแหน่งเหนือต่อมกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายนอก และเซาะกลับลงมาเปิดออกสู่ภายนอกที่ผิวหนังซึ่งห่างออกไปจากปากทวารหนักมากกว่าชนิดแรก
- Extrasphincteric fistula เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก ประมาณ 1% การใช้นิ้วตรวจคลำหาเส้นทางของฝีทำได้ยาก โดยเป็นชนิดที่อาจเกิดจากการเป็นฝีคัณฑสูตรชนิด Transphincteric fistula มาก่อน แล้วหนองได้กัดเซาะขึ้นไปด้านบนเหนือกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายนอกและแตกทะลุเข้าตรงส่วนปลายของลำไส้ตรง หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากเหนือจากการเป็นฝีหนองตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
อาการของฝีคัณฑสูตร
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและบวมบริเวณรอบปากทวารหนักอยู่ตลอดเวลา มีอาการหนองไหลหรือน้ำเหลืองไหลซึมออกจากรูเปิดที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง (บางครั้งอาจมีเลือดปน) ร่วมกับมีอาการคันรอบ ๆ รูนี้ได้ด้วย และผิวหนังรอบ ๆ รูเปิด อาจเกิดการอักเสบแดง
ในบางครั้งช่องทางเชื่อมต่อหรือทางทะลุนั้นอาจเกิดการอุดตันและติดเชื้อขึ้นมาได้ โดยจะทำให้เกิดเป็นฝีหนอง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการบวมและปวดมากที่บริเวณแก้มก้นหรือรอบปากทวารหนัก หรืออาจมีอาการปวดข้างในทวารหนัก และมักมีไข้ร่วมด้วย ฝีหนองเหล่านี้ในที่สุดก็จะเซาะออกสู่ภายนอกผ่านทางผิวหนังบริเวณใกล้ปากทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นการเซาะตามรูเดิมหรือเซาะไปตามทางใหม่ก็ได้ ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายจึงอาจมีทางทะลุได้หลายทาง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูเปิดด้านในทวารหนักเพียงรูเดียว
ภาวะแทรกซ้อนของฝีคัณฑสูตร
- เมื่อทางทะลุเกิดการอุดตันและกลายเป็นฝีหนอง เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้
- การผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรแต่ละวิธีอาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ การกลั้นอุจจาระไม่ได้ (อัตราการเกิดขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการผ่าตัดที่ใช้)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรไปแล้วจะมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก โดยอัตราการกลับมาเป็นอีกจะขึ้นอยู่กับชนิดของฝีคัณฑสูตรและเทคนิควิธีการผ่าตัดที่ใช้
การวินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตร
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย (สังเกตหารูเปิดหรือตุ่มนูนเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ รอบปากทวารหนัก มีอาการคัน ๆ เจ็บ ๆ มีน้ำเหลืองซึม บางครั้งพบการอักเสบบวมแดงและมีหนองออก เป็น ๆ หาย ๆ และผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นฝีในบริเวณทวารหนักมาก่อน) การตรวจหาน้ำเหลืองที่ไหลซึมออกมาร่วมกับการสอดนิ้วมือเข้าไปตรวจภายในทวารหนักเพื่อหารูเปิดในของทวารหนักและทิศทางของทางทะลุ (การกดและรูดช่องทวารหนักอาจช่วยให้น้ำเหลืองไหลซึมออกมาให้สังเกตได้ง่ายขึ้น)
แต่ถ้าตรวจหารูเปิดในทวารหนักไม่เจอ หรือมีรูเปิดภายนอกที่บริเวณผิวหนังหลายรู หรือเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก อาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การฉีดสีเข้าในรูและถ่ายเอกซเรย์ในท่าต่าง ๆ, การใช้หัวเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์สอดเข้าไปในรูทวารแล้วตรวจดู, การส่องกล้องตรวจ, การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น
วิธีรักษาฝีคัณฑสูตร
- ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีแผลเรื้อรังบริเวณรอบปากทวารหนัก (เพื่อแยกว่าไม่ใช่แผลจากโรคมะเร็ง), มีฝีหนองเกิดขึ้นบริเวณใกล้ ๆ ปากทวารหนัก, มีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มก้นหรือบริเวณรอบปากทวารหนัก มีน้ำเหลืองไหลซึมออกมาจากรูที่ผิวหนัง (เป็นอาการของโรคฝีคัณฑสูตร), ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (เพื่อแยกว่าไม่ใช่แผลมะเร็ง), มีอาการเจ็บแผลมาก หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
- การรักษาฝีหนองในระยะก่อนที่จะเป็นฝีคัณฑสูตร แพทย์จะทำการผ่าฝีเพื่อระบายเอาหนองออกก่อนเสมอ เพื่อช่วยลดอาการปวดและป้องกันไม่ให้ฝีกัดเซาะไปยังตำแหน่งอื่น (เพราะถ้าฝีแตกจะยุบลงและหายปวด ถ้ายังไม่แตกผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้น) ร่วมกับการให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ การประคบความร้อนบริเวณที่บวม และการทำความสะอาดบริเวณทวารหนัก เพื่อช่วยระงับอาการและหยุดยั้งการแพร่กระจายของการติดเชื้อ (เป็นการรักษาเสริมจากการผ่าฝีเอาหนองออก ไม่ใช่การรักษาหลัก) โดยฝีที่ผ่าระบายเอาหนองออกประมาณ 50-60% จะหายได้เอง แต่อีกประมาณ 40-50% จะมีโอกาสกลายเป็นฝีคัณฑสูตรได้ (เกิดทางทะลุ)
- วัตถุประสงค์ของการผ่าฝี : การผ่าฝีมิใช่เป็นการรักษาขั้นเด็ดขาด เพราะฝีมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก และเมื่อกลายเป็นฝีเรื้อรังก็ควรกลับมาผ่าตัดอีกครั้ง
- ขั้นตอนการเตรียมผ่าฝี : แพทย์จะใช้ยาชา ยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลที่เหมาะสม มีห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น วิสัญญีแพทย์ หรือพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่ใช้ยาชา) รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการวางยาสลบ การผ่าตัด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความเหมาะสม
- วิธีการผ่าฝี : แพทย์จะทำการผ่าเปิดโพรงหนองให้กว้าง เพื่อให้หนองไหลออกมาได้สะดวก และเพื่อทำแผลได้ง่าย (อาจเสริมด้วยการตัดกล้ามเนื้อหูรูดบางส่วน)
- การดูแลหลังผ่าฝี : ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ (ถ้ามีข้อบ่งชี้) ทำแผลเพื่อมิให้มีหนองตกค้าง ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าฝีขนาดเล็กโดยใช้ยาชา ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล
- ผลข้างเคียงจากการผ่าฝี : ได้แก่ มีเลือดซึมจากแผลผ่าฝี, ปัสสาวะลำบากชั่วคราว, ปวดศีรษะชั่วคราว (ในรายที่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง)
- การรักษาฝีคัณฑสูตร (เกิดทางทะลุแล้ว) ในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการใด ๆ แต่ตรวจพบรูเปิดและทางทะลุโดยบังเอิญจากการตรวจทวารหนักด้วยสาเหตุอื่น ๆ ก็ยังไม่ต้องให้การรักษา แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแสดง ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น จึงจะช่วยให้หายขาดได้ เพราะโรคนี้มักมีอาการแบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ และไม่สามารถหายได้เอง โดยการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายเทคนิควิธี ได้แก่
- Fistulotomy เป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้สำหรับฝีคัณฑสูตรชนิด Intersphincteric fistula (ชนิดที่พบบ่อยที่สุด) ทำโดยการใส่ตัวนำทาง (Probe) เข้าไปที่รูเปิดที่ผิวหนังจนกระทั่งไปโผล่ออกที่รูเปิดภายในทวารหนัก แล้วใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้ากรีดเปิดเส้นทางทะลุทั้งเส้นทางให้ทะลุออกสู่ภายนอกกลายเป็นแผลเปิด และต้องใช้เวลาดูแลรักษาแผลประมาณ 4-5 สัปดาห์ เนื้อเยื่อถึงจะขึ้นมาจนเต็มแผล
- Seton ligation เป็นวิธีผ่าตัดที่เหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิด Transphincteric fistula, Suprasphincteric fistula, Extrasphincteric fistula, ฝีคัณฑสูตรในผู้หญิงที่มีรูเปิดอยู่ด้านบนต่อรูทวารหนัก, ฝีคัณฑสูตรที่มีทางทะลุหลายเส้นทาง, ฝีคัณฑสูตรในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และฝีคัณฑสูตรในผู้ป่วยที่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดไม่ดี โดยมีวิธีการคือ การใช้เส้นไหม เส้นใยที่ทำจากยาง หรือเส้นใยที่หดและยืดได้ (อีลาสติก – Elastic) ใส่เข้าไปในทางทะลุแล้วนำปลายทั้ง 2 ปลายของเส้นไหมออกมาผูกรัดที่ด้านนอก หลังจากนั้นในทุก ๆ สัปดาห์ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อผูกรัดดึงเส้นไหมให้แน่นขึ้นไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเส้นไหมก็จะทำหน้าที่เหมือนใบมีดที่ค่อย ๆ ตัดเนื้อเยื่อออกจนทำลายทางทะลุให้หายไปได้ ซึ่งรวม ๆ แล้วจะใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์ เป็นวิธีที่คล้ายกับ Fistulotomy เพียงแต่เปลี่ยนจากมีดมาใช้เส้นไหมแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่หากใช้เทคนิค Fistulotomy ในผู้ป่วยกลุ่มนี้แล้ว จะทำให้ผู้ป่วยกลั้นอุจจาระไม่ได้
- Fistulectomy with mucosal advancement flap เป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยที่ใช้วิธีการผ่าตัดด้วยเทคนิค Seton ligation แต่ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยมีวิธีการรักษาคล้ายกับเทคนิค Fistulotomy แต่จะตัดส่วนของเส้นทางทะลุออกไปด้วย แล้วตามด้วยการใช้เนื้อเยื่อบางส่วนจากลำไส้ตรง (Rectum) มาทำการปิดและเย็บซ่อมกล้ามเนื้อหูรูด
- นอกจากวิธีข้างต้นแล้วยังมีผู้คิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ในการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ การใช้ Fibrin glue (Fibrin sealant) ซึ่งเป็นกาวแบบหนึ่ง หรือใช้สารเคมีอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกาว เช่น GORE® BIO-A® Fistula Plug ฉีดเข้าไปในทางทะลุเพื่อปิดเส้นทาง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ เช่น Video-assisted anal fistula treatment (VAAFT) technique, Ligation of intersphincteric fistula tract (LIFT) technique เป็นต้น
การผ่าตัดเกือบทั้งหมดจะต้องดมยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง
- Fistulotomy เป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้สำหรับฝีคัณฑสูตรชนิด Intersphincteric fistula (ชนิดที่พบบ่อยที่สุด) ทำโดยการใส่ตัวนำทาง (Probe) เข้าไปที่รูเปิดที่ผิวหนังจนกระทั่งไปโผล่ออกที่รูเปิดภายในทวารหนัก แล้วใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้ากรีดเปิดเส้นทางทะลุทั้งเส้นทางให้ทะลุออกสู่ภายนอกกลายเป็นแผลเปิด และต้องใช้เวลาดูแลรักษาแผลประมาณ 4-5 สัปดาห์ เนื้อเยื่อถึงจะขึ้นมาจนเต็มแผล
- ในผู้ป่วยฝีคัณฑสูตรที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา หากเกิดเป็นฝีหนองกำเริบขึ้นมา ต้องรักษาฝีหนองให้หายเสียก่อน โดยการกรีดผ่าฝีธรรมดาเพื่อระบายเอาหนองออกและให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อฝีหนองหายแล้วจึงรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป
- ในรายที่พบว่ามีทางทะลุเข้าไปในบริเวณไส้ตรง (Rectum) อาจต้องตรวจหาสาเหตุที่ซ่อนเร้นเพิ่มเติม เช่น มะเร็ง วัณโรค ฝีมะม่วง ฯลฯ และให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- หลังได้รับการผ่าตัดฝีคัณฑสูตร สามารถให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้ และให้ยาปฏิชีวนะถ้ามีข้อบ่งชี้
- หลังถ่ายอุจจาระเสร็จควรล้างน้ำให้สะอาดและซับให้แห้งด้วยทิชชู่ที่อ่อนนุ่ม
- ให้นั่งแช่ก้นในน้ำอุ่นครั้งละประมาณ 15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง นอกจากจะช่วยให้สะอาดแล้วยังช่วยบรรเทาอาการปวด ทำให้แผลหายเร็ว และลดการอักเสบได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
- ควรฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาและระวังอย่าให้เกิดอาการท้องผูก ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ หรือธัญพืชต่าง ๆ ให้เพียงพอ หรือกินใยอาหารสำเร็จรูป หรือใช้ยาระบายเมื่อมีอาการท้องผูก (รวมถึงการระวังอย่าให้เกิดอาการท้องเสียด้วย)
- ต้องทำแผลเพื่อมิให้มีหนองตกค้าง
- แพทย์จะติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ จนกว่าแผลของผู้ป่วยจะหายสนิท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังผ่าตัด แต่ในขณะที่แผลยังไม่หายผู้ป่วยก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
- ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลงหรือผิดไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
- ผลข้างเคียงที่พบได้หลังผ่าตัด คือ ปัสสาวะลำบากชั่วคราว, ปวดศีรษะชั่วคราว (ในกรณีที่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง), มีเลือดออกจากแผล (พบได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด), มีน้ำเหลืองไหลซึมออกจากแผล (จะหมดไปเมื่อแผลหาย), การกลั้นอุจจาระอาจไม่สมบูรณ์ (เช่น มีเมือกเล็ด กลั้นอุจจาระที่เป็นน้ำหรือกลั้นลมได้ไม่ค่อยดี เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความลึกของโรค และขนาดของกล้ามเนื้อหูรูดที่จำเป็นต้องตัดออก) และที่สำคัญโรคมีโอกาสกลับมาใหม่ได้อีก ซึ่งพบได้ประมาณ 10-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดฝี
- สมุนไพรรักษาฝีคัณฑสูตร (ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม) ซึ่งใช้รักษาได้ในเบื้องต้น แต่ไม่หายขาดถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยผ่าตัด ได้แก่
- คนทีเขมา (Vitex negundo L.) ใช้ผลแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาคั่วแล้วบดให้เป็นผง หรืออาจจะผสมเหล้าเล็กน้อยก็ได้ แล้วใช้กินตอนท้องว่าง
- เจตมูลเพลิงขาว (Plumbago zeylanica L.) ให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้เป็นยาพอกแก้ฝีบวม ฝีคัณฑสูตร
- หลิว (Salix babylonica L.) ใช้กิ่งแห้งนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้า แล้วเอาน้ำผสมใช้เป็นยาทารักษาบริเวณที่เป็นฝีคัณฑสูตร
วิธีป้องกันฝีคัณฑสูตร
- สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลบริเวณปากทวารหนักจากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น การระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณทวารหนัก การป้องกันการเกิดแผลปริที่ปากทวารหนัก และป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น เชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส วัณโรค และการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด) เป็นต้น
- หลังถ่ายอุจจาระควรใช้ทิชชูที่อ่อนนุ่มในการทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลบริเวณปากทวารหนัก
- รักษาความสะอาดบริเวณปากทวารหนักอยู่เสมอ และหลังถ่ายอุจจาระควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบริเวณปากทวารหนัก
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก เพราะการเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลบริเวณปากทวารหนักได้
- เมื่อมีแผลที่บริเวณปากทวารหนัก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยไว้ให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังจนกลายเป็นฝีหนอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ฝีคัณฑสูตร (Fistula in ano)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 555.
- หาหมอดอทคอม. “ฝีคัณฑสูตร (Anal fistula)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [14 ส.ค. 2016].
- ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย. “Anorectal Abscess and Fistula In Ano”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rcst.or.th. [15 ส.ค. 2016].
- โรงพยาบาลพญาไท. “ฝีคัณฑสูตร…รักษาหายขาดได้”. (รศ.นพ.บรรลือ เฉลยกิตติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com. [15 ส.ค. 2016].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คนทีเขมา”, “เจตมูลเพลิงขาว” และ “หลิว”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 202-203, 230-232 และ 822-823.
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)