14 ข้อดี-ข้อเสีย & วิธีใส่ฝาครอบปากมดลูก ! (Diaphragm)

ฝาครอบปากมดลูก
ฝาครอบปากมดลูก หรือ หมวกยางกั้นช่องคลอด หรือ ไดอะแฟรม (Diaphragm) คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับคุมกำเนิดในสตรีแบบชั่วคราวประเภทหนึ่ง ตัวฝาครอบนั้นผลิตมาจากวัสดุสังเคราะห์และจากธรรมชาติทั้งซิลิโคน (Silicone) Latex หรือยางธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายรูปถ้วยตื้น ๆ ขนาดเล็กรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ด้านหนึ่งตัน ส่วนอีกด้านหนึ่งเปิด ผนังบางและนิ่ม ที่ขอบเป็นวงแข็งกว่าส่วนอื่น เพื่อช่วยให้คงรูปอยู่ได้ด้านเดียว
ฝาครอบปากมดลูกมีไว้สำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอดสตรีในลักษณะวางขวางหรือปิดทางเข้าในมดลูกก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อผสมกับไข่ ส่วนมากแล้วตัวฝาครอบจะมีการใส่สารฆ่าเชื้ออสุจิเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอีกทางหนึ่ง โดยเป็นตัวช่วยทำลายเชื้ออสุจิ
ประสิทธิภาพของฝาครอบปากมดลูก
ตามหลักแล้วการใช้ฝาครอบปากมดลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ฝาครอบปากมดลูก จำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 6 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 12% หรือคิดเป็น 12 ใน 100 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ฝาครอบปากมดลูกกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ
วิธีคุมกำเนิด | การใช้แบบทั่วไป | การใช้อย่างถูกต้อง | ระดับความเสี่ยง |
---|---|---|---|
ยาฝังคุมกำเนิด | 0.05 (1 ใน 2,000 คน) | 0.05 | ต่ำมาก |
ทำหมันชาย | 0.15 (1 ใน 666 คน) | 0.1 | ต่ำมาก |
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน | 0.2 (1 ใน 500 คน) | 0.2 | ต่ำมาก |
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม) | 0.2 (1 ใน 500 คน) | 0.2 | ต่ำมาก |
ทำหมันหญิง (แบบทั่วไป) | 0.5 (1 ใน 200 คน) | 0.5 | ต่ำมาก |
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง | 0.8 (1 ใน 125 คน) | 0.6 | ต่ำมาก |
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea's Shield (สตรีที่ไม่มีบุตร) | 5 (1 ใน 20 คน) | ไม่มีข้อมูล | ต่ำ |
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว) | 6 (1 ใน 17 คน) | 0.2 | ปานกลาง |
หมวกครอบปากมดลูกแบบ FemCap | 7.6 (1 ใน 13 คน) | ไม่มีข้อมูล | ปานกลาง |
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่ไม่มีบุตร) | 9 (1 ใน 11 คน) | 16 | ปานกลาง |
แผ่นแปะคุมกำเนิด | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing) | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
ยาเม็ดคุมกำเนิด | 9 (1 ใน 11 คน) | 0.3 | ปานกลาง |
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method) | ไม่มีข้อมูล | 9 | ไม่มีข้อมูล |
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) | 12 (1 ใน 8 คน) | 6 | สูง |
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่ไม่มีบุตร) | 12 (1 ใน 8 คน) | 19 | สูง |
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea's Shield (สตรีที่มีบุตร) | 15 (1 ใน 6 คน) | ไม่มีข้อมูล | สูง |
ถุงยางอนามัยชาย | 18 (1 ใน 5 คน) | 2 | สูง |
การหลั่งนอก | 22 (1 ใน 4 คน) | 4 | สูงมาก |
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่มีบุตร) | 24 (1 ใน 4 คน) | 20 | สูงมาก |
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่มีบุตร) | 26 (1 ใน 3 คน) | 32 | สูงมาก |
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal) | 28 (1 ใน 3 คน) | 18 | สูงมาก |
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน) | 85 (6 ใน 7 คน) | 85 | สูงมาก |
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods - Wikipedia)
ฝาครอบปากมดลูกเหมาะกับใคร ?
- สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว
- สตรีที่มีข้อห้ามในการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ฯลฯ
วิธีใช้ฝาครอบปากมดลูก
การสวมใส่ฝาครอบปากมดลูก ฝ่ายหญิงสามารถสวมใส่ฝาครอบปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดได้ด้วยตัวเอง หรือจะให้ฝ่ายชายใส่ให้ก็ได้ แต่จะต้องมีการฝึกฝนในการใส่ให้ชำนาญ ในช่วงแรกอาจรู้สึกว่ายุ่งยากเล็กน้อย แต่ทักษะการใส่จะดีขึ้นเองเมื่อใช้ไปเรื่อย ๆ (การใส่ฝาครอบปากมดลูกสามารถใส่ไว้ล่วงหน้าก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 30 นาที และจะต้องใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้ออสุจิเสมอ หากใส่ฝาครอบปากมดลูกที่มียาฆ่าเชื้ออสุจิแล้วไม่มีเพศสัมพันธ์ เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์จะต้องใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดอีกครั้ง) โดยมีขั้นตอนการใส่ฝาครอบปากมดลูกดังนี้
- ขั้นตอนแรกให้ล้างมือให้สะอาด แกะฝาครอบปากมดลูกออกจากกล่องบรรจุ พร้อมกับตรวจสอบดูความเรียบร้อยก่อนใช้งาน ว่าฝาครอบมีรูรั่ว มีรอยฉีกขาด หรือเว้าแหว่งผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีปัญหาจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังต้องใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิร่วมกับฝาครอบปากมดลูกด้วยเสมอ จึงต้องตรวจดูวันหมดอายุของยาฆ่าเชื้ออสุจิและฝาครอบปากมดลูกด้วย
- ทายาฆ่าเชื้ออสุจิทั้งด้านในและด้านนอกของฝาครอบปากมดลูก (ห้ามใส่แป้งหรือน้ำมันทุกชนิด เพราะจะทำให้ตัวอุปกรณ์เสียหาย)
- เลือกใส่ในท่าที่สบายและถนัดเพื่อเปิดช่องคลอด โดยอาจจะเป็นท่านอนชันเข่า ท่านั่งยอง ๆ ท่ายืน หรือท่ายืนยกเข่า 1 ข้างบนเก้าอี้ก็ได้ หากเป็นการใส่ครั้งแรกให้ลองสอดนิ้วชี้ของมือด้านที่ถนัดเข้าไปในช่องคลอดก่อนเพื่อหาตำแหน่งของปากมดลูกและเพื่อเพิ่มความคุ้นชินกับลักษณะของช่องคลอดตัวเอง เมื่อเอานิ้วมือออกจากช่องคลอดแล้ว ให้จับขอบฝาครอบปากมดลูกบีบเข้าหากันเพื่อให้ฝาครอบมีขนาดแคบลงพอที่จะสอดเข้าไปในช่องคลอดได้ (จับฝาครอบโดยใช้มือข้างที่ถนัดและใช้มืออีกข้างหนึ่งแยกผนังทางเข้าช่องคลอดออกจากกัน) แล้วจึงค่อย ๆ สอดหรือดันฝาครอบปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ ใส่นิ้วตามเข้าไปในช่องคลอดอีกครั้งเพื่อจัดฝาครอบปากมดลูกให้เข้าไปอยู่ลึกที่สุดจนชนและครอบบริเวณปากมดลูกพอดี โดยจัดให้ฝาครอบวางตัวในแนวขวางของช่องคลอดกั้นระหว่างปากมดลูกกับช่องคลอดด้านนอกที่เหลือ เมื่อใส่เสร็จแล้วก็ให้ล้างมือให้สะอาด
- หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้ว ต้องใส่คาไว้ในช่องคลอดประมาณ 6-8 ชั่วโมงเพื่อให้ยาฆ่าเชื้ออสุจิทำงานก่อน (อย่าเพิ่งรีบร้อนเอาออก เพราะจะทำให้เชื้ออสุจิในช่องคลอดที่ยังไม่ตายจากยาฆ่าเชื้อวิ่งเข้าไปในโพรงมดลูกได้) เมื่อจะเอาฝาครอบปากมดลูกออก ให้ค่อย ๆ ใช้นิ้วชี้สอดเข้าไปในช่องคลอดล้วงเข้าไปด้านหลังของขอบหน้าดึงลงแล้วดึงเอาฝาครอบปากมดลูกออกมา (ระวังอย่าให้เล็บเกี่ยวฝาครอบขาด) และหากจะมีการร่วมเพศซ้ำก็ควรใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดเพิ่มเติมด้วย โดยการใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้เลยโดยไม่ต้องเอาฝาครอบปากมดลูกออก (ไม่ควรทิ้งฝาครอบปากมดลูกไว้ในช่องคลอดนานเกิน 24-30 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและมีของเหลวออกมาได้ แต่หากใช้ฝาครอบนี้ในระหว่างที่มีประจำเดือน ไม่ควรจะทิ้งไว้นานเกินกว่า 6 ชั่วโมง เพราะอาจมีการเสี่ยงเล็กน้อยต่ออาการช็อกจากสารพิษ)
- เมื่อเอาฝาครอบปากมดลูกออกมาแล้ว ให้นำมาล้างให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ปล่อยให้แห้งโดยไม่จำเป็นต้องตากแดด เก็บฝาครอบเข้ากล่อง เก็บไว้ในที่เย็นและแห้งไม่ให้ถูกแสง เพื่อที่จะได้สามารถนำมาใช้ในครั้งต่อไป และก่อนใช้ทุกครั้งจะต้องทายาฆ่าเชื้ออสุจิด้วยเสมอ (ฝาครอบปากมดลูกสามารถใช้ซ้ำได้เหมือนหมวกครอบปากมดลูก แต่จะใช้ซ้ำกันกี่ครั้งก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ โดยสามารถดูได้จากเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์) และล้างมือให้สะอาด
จะรู้ได้อย่างไรว่าใส่ฝาครอบปากมดลูกในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ?
- เมื่อใส่นิ้วเข้าไปในช่องคลอดจะคลำได้ปากมดลูกว่าอยู่ในฝาครอบ (เวลาคลำจะให้ความรู้สึกเหมือนคลำปลายจมูก)
- เมื่อลุก เดิน วิ่ง ไอ จาม ปัสสาวะ อุจจาระ ฝาครอบปากมดลูกจะไม่หลุด
- หากคลำไม่ได้ปากมดลูกหรือปากมดลูกไม่อยู่ในฝาครอบ ให้ดึงฝาครอบปากมดลูกออก แล้วใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิและสอดเข้าไปใหม่
คำแนะนำในการใช้ฝาครอบปากมดลูก
- หากต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกภายใน 6 ชั่วโมง ต้องใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดด้วยเสมอ
- อย่าสวนล้างช่องคลอดในขณะที่ยังใส่ฝาครอบปากมดลูก
- ห้ามใช้ฝาครอบปากมดลูกในขณะที่กำลังมีประจำเดือน
- ควรเปลี่ยนฝาครอบปากมดลูกทุก ๆ 1-2 ปี
- ก่อนการใช้ทุกครั้งจะต้องตรวจสอบดูรอยรั่วหรือรอยฉีกขาดทุกครั้ง
- หากมีอาการปวดท้องน้อย ปวดเวลาปัสสาวะ มีอาการคันช่องคลอดและเป็นไข้ คุณควรไปพบแพทย์
ฝาครอบปากมดลูกหาซื้อได้ที่ใด ?
ฝาครอบปากมดลูกสามารถหาซื้อได้ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งและตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป โดยเฉพาะในย่านที่คนตะวันตกอาศัยอยู่ และเนื่องจากฝาครอบปากมดลูกมีอยู่ด้วยกันหลายขนาดและทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละแบบมีอายุการใช้งานแตกต่างกันออกไปและมีการใช้ซ้ำได้ การเลือกซื้อมาใช้จึงควรเลือกฝาครอบปากมดลูกที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับช่องคลอดและปากมดลูกของแต่ละคน ดังนั้น ก่อนใช้จริงจึงต้องซื้อมาทดลองใช้หลาย ๆ ขนาดก่อน เพื่อหาขนาดที่เหมาะสมและพอเหมาะจะกั้นปากมดลูกกับช่องคลอดได้พอดี ต้องไม่มีขนาดเล็กเกินไป ปิดปากมดลูกได้หมด (ขวางช่องคลอดได้โดยไม่เลื่อนหลุด) โดยผู้ใส่จะต้องสอดนิ้วเข้าไปเพื่อตรวจสอบในช่องคลอดเอาเอง แล้วสังเกตดูว่าหลังใส่เข้าไปแล้วรู้สึกเจ็บปวดหรือระคายเคืองหรือไม่
ผลข้างเคียงของฝาครอบปากมดลูก
- ผลข้างเคียงที่เกิดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีน้อยมาก แต่อาจรวมถึงทางเดินปัสสาวะอักเสบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสตรีที่เคยมีประวัติการเป็นมาก่อนในอดีต
ข้อดีของฝาครอบปากมดลูก
- ไม่ต้องพึ่งพาการคุมกำเนิดจากฝ่ายชายในการใช้ถุงยางอนามัย
- การมีเพศสัมพันธ์ไม่มีการสะดุดเพราะต้องใส่ฝาครอบก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนกับการใส่ถุงยางอนามัย
- ง่ายต่อการพกพาและใช้คุมกำเนิดได้ทันที
- ฝาครอบปากมดลูกไม่มีส่วนผสมของยาฮอร์โมน จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเหมือนการคุมกำเนิดวิธีอื่นอย่างยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นต้น
- ไม่มีผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ
- สามารถใช้ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์
- เมื่อหยุดใช้ภาวะการเจริญพันธุ์จะกลับมาทันที
- สามารถใช้ได้ในช่วงที่ให้นมบุตร
ข้อเสียของฝาครอบปากมดลูก
- หาซื้อได้ไม่สะดวก มีขั้นตอนในการใส่และถอดเก็บค่อนข้างจะยุ่งยากเล็กน้อย
- ต้องใส่ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศ
- โอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในระดับเสี่ยง แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม และจะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
- อาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองต่อยาที่ใช้ มีอาการคัน และทำให้มีตกขาวได้
- หากฝาครอบปากมดลูกค้างอยู่ในช่องคลอดและเอาออกเองไม่ได้ ต้องมาที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เนื่องจากช่องคลอดยังมีการสัมผัสกับอวัยวะเพศของฝ่ายชายอยู่
เอกสารอ้างอิง
- Family Planning NSW. “ฝาครอบปากมดลูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fpnsw.org.au. [17 ต.ค. 2015].
- หาหมอดอทคอม. “หมวกครอบปากมดลูก (Cervical diaphragm)”. (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [17 ต.ค. 2015].
- Siamhealth. “การคุมกำเนิดโดยใช้ Diaphragm”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [17 ต.ค. 2015].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
- 1 ฝาครอบปากมดลูก
- 2 ประสิทธิภาพของฝาครอบปากมดลูก
- 3 ฝาครอบปากมดลูกเหมาะกับใคร ?
- 4 วิธีใช้ฝาครอบปากมดลูก
- 5 จะรู้ได้อย่างไรว่าใส่ฝาครอบปากมดลูกในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ?
- 6 คำแนะนำในการใช้ฝาครอบปากมดลูก
- 7 ฝาครอบปากมดลูกหาซื้อได้ที่ใด ?
- 8 ผลข้างเคียงของฝาครอบปากมดลูก
- 9 ข้อดีของฝาครอบปากมดลูก
- 10 ข้อเสียของฝาครอบปากมดลูก
- 11 เอกสารอ้างอิง
แสดงความคิดเห็น