ผักโขมสวน
ผักโขมสวน ชื่อสามัญ Joseph’s coat, Chinese spinach, Tampala
ผักโขมสวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus tricolor L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1]
ผักโขมสวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักขมสวน, ผักขมสี, ผักโขมสี, ผักขมขาว, ผักโขมขาว, ผักขมจีน, ผักโขมหนาม, ผักโหมหนาม, ผักขมใบใหญ่, ผักโขมใบใหญ่, ผักโหมป๊าง, ผักโหมป๊าว, ผักหมพร้าว, ผักขมเกี้ยว, เงาะถอดรูป เป็นต้น[1]
ลักษณะของผักโขมสวน
- ต้นผักโขมสวน จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ถึง 1.30 เมตร ส่วนยอดมีขนสั้นปกคลุม เจริญเติบโตได้เร็ว ต้องการความชื้นสูง มีแสงแดดตลอดวัน และชอบดินร่วน สามารถพบได้ทั่วไปของทุกภาค[1]
- ใบผักโขมสวน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปลายใบมน ส่วนโคนใบสอบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย และใบที่ส่วนของปลายยอดจะมีอยู่หลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีแดงสด สีม่วงแดง สีเหลืองทอง เป็นต้น[1]
- ดอกผักโขมสวน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีเขียวอ่อนหรือสีแดง ช่อดอกมีขนาดประมาณ 4-25 มิลลิเมตร[1]
- ผลผักโขมสวน ผลแห้งแก่ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก จำนวนมาก[1],[2]
ต้นและใบของผักโขมสวนจะมีสีม่วงอมดำคล้ำอยู่ประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่การเพาะเมล็ด หลังจากนั้นจะเริ่มเปลี่ยนสี โดยที่ส่วนของยอดลงมาประมาณ 1 ใน 3 ของลำต้นจะมีสีแดงสดสะดุดตา สำหรับสายพันธุ์ Joseph’s coat ตรงยอดจะมีสีเหลืองและมีสีแดงที่โคนของใบ ส่วนใบที่อยู่ด้านล่างจะมีอยู่ด้วยกัน 3 โทนสีคือ โคนใบเป็นสีแดง กลางใบเป็นสีเหลือง และปลายใบเป็นสีเขียว ส่วนใบที่อยู่ล่าง ๆ ลงมาจะมีสีเขียว[3]
สรรพคุณของผักโขมสวน
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เนื่องจากผักโขมมีวิตามินเอสูง (ใบ)
- ช่วยแก้ไข้ ระงับความร้อนภายในร่างกาย (ราก)[2]
- ใช้แก้เด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าละอองและมีอาการเบื่ออาหาร (ราก)[2]
- ช่วยแก้อาการแน่นท้อง (ราก)[2]
- รากใช้เป็นยาแก้ตกเลือด (ราก)[2]
- ช่วยแก้ฝี แก้ขี้กลาก (ราก)[2]
- ใช้แก้อาการช้ำใน (ราก)[2]
- รากช่วยแก้พิษ (ราก)[2]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ราก)[2]
ข้อควรรู้ ! : มีรายงานจากประเทศบราซิลพบว่า พืชชนิดนี้เป็นพิษต่อวัว ควาย และม้า โดยทำให้มีอาการเบื่ออาหาร[2]
ประโยชน์ของผักโขมสวน
- นิยมใช้ปลูกลงแปลงเพื่อปรับภูมิทัศน์ เนื่องจากมีจุดเด่นและมีสีสันสวยงามแปลกตา แต่ต้องเปลี่ยนต้นปลูกใหม่ทุก 3 เดือน[1]
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ ด้วยการนำมาทำให้สุก โดยวิธีลวก นึ่ง หรือต้ม ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ และแกงเลียง เป็นต้น[2]
- เมล็ดสีดำของผักโขมสวน เด็ก ๆ ชอบเอามาติดแก้มเล่นเป็นไฝปลอม[3]
คุณค่าทางโภชนาการของผักโขมสวน ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 6.7 กรัม
- โปรตีน 5.2 กรัม
- ไขมัน 0.8 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1 กรัม
- น้ำ 84.8 กรัม
- วิตามินเอ 12,858 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.01 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.37 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.8 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 120 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 341 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4.1 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 76 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม. ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาเกษตรศาสตร์. “เงาะถอดรูป“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “โขมสวน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ไม้ดอกล้มลุก : เงาะถอดรูป“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [13 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Starr Environmental, horticultural art, 阿橋花譜 KHQ Flowers, werhardt, Vietnam Plants & The USA. plants)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)