ผักโขม
ผักโขม หรือ ผักขม ชื่อสามัญ Amaranth
ผักโขม ชื่อวิทยาศาสตร์ Amaranthus blitum subsp. oleraceus (L.) Costea (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amaranthus lividus L.) จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)
ผักโขม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักโหม ผักหม (ภาคใต้), ผักโหมเกลี้ยง กระเหม่อลอเตอ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ผักโขมเป็นผักที่ขึ้นได้ทั่วไปตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ริมทาง ป่าละเมาะ ป่ารกร้าง สวนผักผลไม้ของชาวไร่ชาวนา เป็นต้น ในบ้านเราผักโขมนั้นมีอยู่หลากหลายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารได้แก่ ผักโขม ผักโขมสวน ผักโขมหัด ผักโขมหนาม เป็นต้น
ผักโขมไม่ได้มีรสชาติขมเหมือนที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่กลับมีรสชาติออกหวานหน่อย ๆ ด้วยซ้ำ กินง่ายแน่นอน แถมยังมีโปรตีนสูง กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินเค ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุแมงกานีส ธาตุสังกะสี เป็นต้น
แต่ผักโขมมีปริมาณของสารออกซาเลตค่อนข้างสูง (Oxalate) ผู้ที่เป็นโรคนิ่ว โรคเกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ที่ต้องการสะสมปริมาณของแคลเซียมควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ มีคำแนะนำว่าการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด การคั่ว จะช่วยลดปริมาณสารออกซาเลตได้ดีที่สุด แต่การนำไปนึ่งหรือต้มจะช่วยลดลงได้บ้างระดับหนึ่ง
ทำความเข้าใจกันก่อน ผักโขมกับปวยเล้ง มันคือผักคนละชนิดกัน ต้องแยกให้ออก ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่องป๊อปอายที่เห็นว่ากินผักแล้วช่วยเพิ่มพลัง ผักที่ป๊อปอายกินจริง ๆ แล้วมันก็คือปวยเล้งหรือ Spinach (ออกเสียงว่า “สปีแนช”) แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผักสองชนิดนี้ก็คือสปีชีส์เดียวกัน คุณสมบัติทางด้านโภชนาการจะคล้าย ๆ กัน (แต่ผักโขมจะมีธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินซี สูงกว่าปวยเล้งหลายเท่า) และต่างกันแต่เพียงลักษณะภายนอกและรสชาติเล็กน้อย และยังรวมถึงเรื่องราคาซึ่งผักปวยเล้งจะมีราคาแพงกว่าประมาณเท่าตัว (ที่มา : http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2007/07/D5591888/D5591888.html)
สรรพคุณของผักโขม
- ช่วยบำรุงกำลังทำให้มีสุขภาพแข็งแรง
- ผักโขมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จึงมีส่วนช่วยในการชะลอวัยและความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- ช่วยส่งเสริมการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง จึงช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยได้
- ช่วยบำรุงและรักษาสุขภาพสายตา ป้องกันความเสื่อมของดวงตา
- มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง ชะลอปัญหาความจำเสื่อม
- ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
- ช่วยรักษาจังหวะการเต้นของหัวใจให้คงที่
- ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร
- เป็นอาหารที่เหมาะอย่างมากกับผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ เพราะผักโขมอุดมไปด้วยโปรตีน
- มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้
- แมกนีเซียมในผักโขมช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
- ช่วยชะลอความเสื่อมของสายตา ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคดวงตาเสื่อมได้สูงถึง 43%
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่
- ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย
- ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ใช้ถอนพิษไข้ ด้วยการนำรากมาปรุงเป็นยา (ราก)
- ช่วยดับพิษภายในและภายนอก (ทั้งต้น)
- วิตามินเคในผักโขมช่วยป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุดได้
- ช่วยแก้อาการตกเลือด
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอกและไอหอบ (ต้น)
- ใช้แก้อาการบิด มูกเลือด (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการแน่นท้อง
- ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้สะดวก เพราะมีเส้นใยสูง
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
- ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารและจมูก (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดท้องประจำเดือน เพราะช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง
- ใช้แก้ผดผื่นคัน (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาฝี กลาก เกลื้อน (ทั้งต้น)
- ใช้รักษาแผลพุพอง (ทั้งต้น, ใบสด)
- ช่วยแก้อาการช้ำใน
- ใช้แก้รำมะนาด (ทั้งต้น)
- การรับประทานผักโขมจะช่วยทำให้คุณรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและอยู่ท้องนาน จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน
- แก้อาการเด็กลิ้นเป็นฝ้าละอองและเบื่ออาหาร
- ซุปผักโขมเป็นเมนูอาหารที่เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์อย่างมาก เพราะมีประโยชน์หลากหลายและยังช่วยบำรุงร่างกายคุณแม่และเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง
- ผักโขมเป็นผักที่ช่วยบำรุงน้ำนมสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์ของผักโขม
- สำหรับชาวกรีกสมัยโบราณ ผักโขมถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ และมีการใช้ภาพของใบผักโขมในการประดับที่อยู่ของหลุมศพต่าง ๆ
- ประโยชน์ผักโขม ใบอ่อน ยอดอ่อน ต้นอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก รับประทานเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกปลาร้า กะปิ ปลาต่อม หรือจะนำมานึ่งพร้อมกับปลา นำไปทำแกงเลียง ทำเป็นผัดผัก ผักโขมอบชีส พายผักโขมอบชีส ผักโขมราดซอสงาขาว ปอเปี๊ยะไส้ผักโขมชีส ซุปครีมผักโขม ซุปผักโขม เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)