ผักแว่น
ผักแว่น ชื่อสามัญ Water clover, Water fern, Pepperwort
ผักแว่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata C. Presl จัดอยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE
สมุนไพรผักแว่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักลิ้นปี่ (ภาคใต้), หนูเต๊าะ (กระเหรี่ยง-ภาคเหนือ), ผักแว่น (ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ผักก๋ำแหวน เป็นต้น[1],[2],[3],[6],[9]
หมายเหตุ : ผักแว่นเป็นพืชคนละชนิดกับ “ส้มกบ” เพียงแต่มีชื่อเรียกเหมือนกันว่า “ผักแว่น” อีกทั้งยังมีลักษณะคล้ายกัน จึงอาจทำให้จำสับสนได้
ลักษณะของผักแว่น
- ต้นผักแว่น จัดเป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์น มีลำต้นสูงได้ถึง 20 เซนติเมตร เจริญเติบโตในน้ำตื้น ๆ มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อย และแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุมและใบอยู่เหนือน้ำ โดยต้นอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนของรากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำก็ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถา ไหล สปอร์ โดยผักแว่นมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่น สามารถพบได้ทั่วไปตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน[1],[2]
- ใบผักแว่น ใบเป็นใบประกอบแบบพัด โดยมีใบย่อย 4 ใบคล้ายกังหัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปลิ่มหรือเป็นไข่กลับ แต่ละใบย่อยมีขนาดเท่ากัน ออกจากตรงกลางจากตำแหน่งเดียวกันเป็นลักษณะกลม โดยขนาดของใบย่อยจะมีความกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.8 เซนติเมตร โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีลักษณะเรียบและไม่มีขน ใบย่อยจะไม่มีก้าน ส่วนก้านใบจะมีความยาวประมาณ 4.5-15 เซนติเมตร ใบมีสปอร์โรคาร์ป (Sporocarps) ออกที่โคนก้านใบเป็นก้อนแข็ง ๆ ออกเดี่ยว ๆ หรือออกหลายอัน มีสีดำ ก้านยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลักษณะของสปอโรคาร์ปรูปขอบขนานยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร บนก้านชูสั้น ๆ โดยจะออกที่โคนก้านใบ ขณะที่อ่อนอยู่เป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำและร่วงได้ง่าย และภายในจะมีสปอร์จำนวนมาก[1],[2]
- ดอกผักแว่น ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีสีเหลือง[1] ส่วนข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ดอกมีกลีบเป็นสีม่วง มีขนาดเล็ก ออกตามซอกใบ มีผลแห้งและแตกได้ (จุดนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าข้อมูลนี้น่าจะเป็นดอกของบัวบกเสียมากกว่า ซึ่งอาจเกิดความสับสนในการลงข้อมูล เพราะบัวบกก็มีชื่ออื่นที่เรียกว่า “ผักแว่น” เช่นกัน และผู้เขียนเข้าใจว่าผักแว่นในบทความนี้น่าจะไม่มีดอก หรือผมไม่เคยเห็นก็ไม่ทราบได้)[7]
สรรพคุณของผักแว่น
- ผักแว่นมีธาตุเหล็กสูง จึงช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง (ต้น)[6]
- ผักแว่นช่วยลดไข้ (น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้ม)[4]
- ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ต้น)[6]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับใบธูปฤาษี ทุบพอแตก ใช้แช่น้ำที่มีหอยขมเป็น ๆ อยู่ ประมาณ 2-3 นาที นำมาดื่มเป็นยาแก้ไข้ และอาการผิดสำแดงได้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ (ต้น)[6]
- ผักแว่นมีรสจืดและมัน ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย ระงับอาการร้อนใน แก้ร้อนใน แก้อาการกระหายน้ำ (น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้ม[1],[4], ต้น[6])
- ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน (ใบ[8], ต้น[6])
- น้ำที่ได้จากการนำใบผักแว่นมาต้มช่วยสมานแผลในปากและลำคอได้ (ใบ[4], ต้น[6])
- ช่วยรักษาโรคปากเปื่อย ปากเหม็น (น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้ม)[4]
- ทั้งต้นใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้เจ็บคอ อาการเสียงแหบ (ใบ, ทั้งต้น)[3],[4],[6]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้ม)[4],[6]
- เนื่องจากมีเส้นใยอาหารมากจึงช่วยป้องกันและแก้อาการท้องผูกได้ (ต้น)[6]
- ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำที่ได้จากการนำใบสดมาต้ม)[4]
- ช่วยแก้ดีพิการ (ต้น)[6]
- ใบสดใช้เป็นยาภายนอก ช่วยรักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยในการสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ และช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนอง และช่วยลดการอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ นำมาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทาบริเวณแผล (ใบ)[4]
- มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคกลาก (ไม่ระบุว่าเป็นส่วนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นใบ)[4]
- ช่วยรักษาโรคเกาต์ (ต้น)[6]
- ปัจจุบันมีการนำไปพัฒนาเป็นยาชนิดครีมที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นใบ)[4]
ประโยชน์ของผักแว่น
- ใบอ่อน ยอดอ่อน และก้านใบใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ซุปหน่อไม้ ใช้เป็นเครื่องเคียงกับอาหารชนิดต่าง ๆ หรือนำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกงจืด แกงอ่อม เจียวไข่ เป็นต้น[1],[2],[3],[8] และเมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะอ่อนนิ่มทำให้รับประทานได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ[5]
- ในประเทศอินโดนีเซีย ในเมืองสุราบายา นิยมใช้ผักแว่นนำมาเสิร์ฟร่วมกับมันเทศและเพเซล (Pacel) หรือซอสเผ็ดที่ผลิตจากถั่วลิสง[7]
คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 18 แคลอรี*
- คาร์โบไฮเดรต 0.7 กรัม
- โปรตีน 1.0 กรัม
- ไขมัน 1.2 กรัม
- เส้นใยอาหาร 3.3 กรัม
- น้ำ 94 กรัม
- วิตามินเอ 12,166 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.10 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.27 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 3.4 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 48 มิลลิกรัม*
- ธาตุเหล็ก 25.2 มิลลิกรัม*
- ธาตุฟอสฟอรัส ไม่แน่ชัด*
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[1]
หมายเหตุ : อีกข้อมูลได้ระบุว่าผักแว่นต่อ 100 กรัมนั้นให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี[6] และอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี, แคลเซียม 37 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 3.5 กรัม, และธาตุฟอสฟอรัส 66 มิลลิกรัม[3] โดยข้อมูลดังกล่าวได้ระบุแหล่งอ้างอิงว่ามาจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน (เข้าใจว่าอาจลงข้อมูลผิด)
คำแนะนำในการรับประทานผักแว่น
- สำหรับผู้เป็นมะเร็งไม่ควรรับประทาน (ข้อมูลไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ว่าเพราะอะไรถึงไม่ควรรับประทาน)[8]
- ตามตำนานหรือพิธีกรรมทางศาสนาของชาวเหนือมีความเชื่อว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานผักแว่น เนื่องจากผักแว่นมีลักษะของลำต้นเป็นเครือ โดยเชื่อว่าเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ไปพันคอของเด็กทารกในท้องได้ ทำให้คลอดยาก หรือมีอาการปวดท้องก่อนคลอดนาน เปรียบเหมือนว่ารากผักแว่นยึดติดกับโคลนอยู่[5],[8]
เอกสารอ้างอิง
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [29 พ.ย. 2013].
- สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [29 พ.ย. 2013].
- การสำรวจเฟิร์นตามเส้นทางธรรมชาติน้ำตกแม่เย็น โรงเรียนปายวิทยาคาร. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fern.pwtk.ac.th. [29 พ.ย. 2013].
- เดลินิวส์. “ผักแว่น…ผักพื้นบ้านแต่มีคุณค่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [29 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9 (arit.kpru.ac.th). [29 พ.ย. 2013].
- กรีนคลินิก. “ผักแว่น“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านไทยสมุนไพรต้านโรค (ชิดชนก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [29 พ.ย. 2013].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ผักแว่น. [29 พ.ย. 2013].
- สำนักงานเกษตรอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. “ผักลิ้นปี๋ ผักหนูเต๊าะWater Clover“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pasang.lamphun.doae.go.th. [29 พ.ย. 2013].
- โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่. “ผักแว่น“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: learn.wattano.ac.th. [29 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ruisoares65, Russell Cumming, ductrongeb, jennyhsu47)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)