ผักแพวแดง
ผักแพวแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Iresine herbstii Hook. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1]
สมุนไพรผักแพวแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแผ่วแดง, ผักแผ่วสวน, ผักอีแปะ[1], ผักแพวสวน[2], ละอองใบด่าง (เชียงใหม่)[3] เป็นต้น
ลักษณะของผักแพวแดง
- ต้นผักแพวแดง จัดเป็นพืชล้มลุก มีสีแดงทั้งต้นและใบ[1] ลำต้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร[3]
- ใบผักแพวแดง ใบเป็นใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีสีแดงเข้มออกม่วง มองเห็นเส้นใบสีแดงได้ชัดเจน[1] ลักษณะของเป็นรูปโล่แกมรูปไข่ รูปวงรีหรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายใบเว้า สีแดง มีแถบขวางสีชมพู[3]
- ดอกผักแพวแดง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวแกมเหลือง มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแบบแยกเพศ[1],[3]
- ผลผักแพวแดง เป็นผลแห้งไม่แตก[3]
สรรพคุณของผักแพวแดง
- ดอกช่วยขับเหงื่อ (ดอก)[2]
- ใบช่วยแก้อาการไอ (ใบ)[2]
- รากใช้เป็นยาแก้หืดไอ (ราก)[1] ใบช่วยรักษาอาการหอบหืด (ใบ)[2]
- ใบช่วยแก้เลือดลมต่าง ๆ (ใบ)[2]
- ใบใช้ผสมกับบานเย็น เทียนบ้าน ใช้ต้มดื่มช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น (ใบ)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องเฟ้อ ท้องขึ้น (ใบ)[2]
- ช่วยขับลมในกระเพาะ (ราก)[1]
- ใบผักแพวแดงใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ข้อมูลไม่ได้ระบุว่าใช้ร่วมกับอะไร) ต้มเป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ดี (ใบ)[3]
- ใบนำมาใช้ต้มกินกับไก่ ช่วยแก้อาการปวดหลังปวดเอว (ใบ)[3]
- รากช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามข้อ (ราก)[1] ส่วนใบช่วยแก้อาการปวดตามข้อ ปวดกระดูก (ใบ)[2]
- ช่วยรักษาอาการปวด (ดอก)[1]
- บางข้อมูลระบุว่า ผักแพวแดงและผักแพวขาว จัดอยู่ในตำราจุลพิกัดหรือที่เรียกว่า “ผักแพวทั้งสอง” ช่วยแก้ธาตุพิการ ช่วยในการย่อยอาหาร และแก้อาการปวดท้อง[2] แต่ส่วนนี้เองผู้เขียนกลับเห็นแย้งว่า “ผักแพวแดง” ในที่นี้น่าจะหมายถึง “ผักไผ่” หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ผักแพว” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygonum odoratum Lour.) เสียมากกว่า ส่วน “ผักแพวขาว” นั้นจะเป็นชนิดเดียวหรือวงศ์เดียวกันกับผักไผ่ นั่นก็คือวงศ์ POLYGONACEAE เพียงแต่ว่าผักแพวขาวนั้นจะมีลำต้นสีเขียว ถูกผิดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ประโยชน์ของผักแพวแดง
- นอกจากจะเป็นยาสมุนไพร ก็คงจะเป็นการใช้ปลูกเป็นพืชประดับสวนเพื่อความสวยงาม
- ชาวเปรูตอนเหนือที่อยู่ในแถบเทือกเขาแอนดีส นำผักแพวแดงมาใช้ในพิธีกรรมขับไล่วิญญาณร้ายให้ออกจากร่างกาย[4]
เอกสารอ้างอิง
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [12 ต.ค. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร. ฝ่ายวิจัยและบริการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอน ผักแพวแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [12 ต.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ฐานข้อมูลพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน. อ้างอิงใน: สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ (128). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [12 ต.ค. 2013].
- Top Tropicals. “SPECIAL PLANTS“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: toptropicals.com. [12 ต.ค. 2013].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)