ผักแพว
ผักแพว ชื่อสามัญ Vietnamese coriander
ผักแพว ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygonum odoratum Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Persicaria odorata (Lour.) Soják) จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[10]
สมุนไพรผักแพว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พริกม้า พริกม่า (นครราชสีมา), หอมจันทร์ (อยุธยา), ผักไผ่ (ภาคเหนือ), ผักแพว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จันทน์โฉม, จันทน์แดง, ผักไผ่น้ำ, ผักแพ้ว, ผักแพรว, ผักแจว, พริกบ้า, หอมจันทร์ เป็นต้น[2],[3],[10]
ลักษณะของผัวแพว
- ต้นผักแพว จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีข้อเป็นระยะ ๆ ตามข้อมักมีรากงอกออกมา หรือลำต้นเป็นแบบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและมีรากงอกออกมาตามส่วนที่สัมผัสกับพื้นดิน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ เช่น ในบริเวณห้วย หนอง คลอง บึง หรือตามแอ่งน้ำต่าง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้ลำต้นปักชำ (เมล็ดงอกยาก นิยมใช้กิ่งปักชำมากกว่า) พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพืชล้มลุก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะเกิดได้เองตามธรรมชาติ
- ใบผักแพว มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปหอกแกมรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่แต่บางกว่า ขอบใบเรียบ ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ก้านใบสั้นมีหู ใบลักษณะคล้ายปลอกหุ้มรอบลำต้นอยู่บริเวณเหนือข้อของลำต้น
- ดอกผักแพว ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวนวลหรือชมพูม่วง
- ผลผักแพว ผลมีขนาดเล็กมาก
สรรพคุณของผักแพว
- ผักแพวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย (ใบ)[2]
- ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง (ใบ)[2]
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจ (ใบ)[2]
- ใบใช้รับประทานช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[2]
- ช่วยบำรุงประสาท (ราก)[9]
- รสเผ็ดของผักแพวช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินสะดวกมากขึ้น (ใบ)[5]
- ช่วยรักษาโรคหวัด (ใบ)[6]
- ช่วยขับเหงื่อ (ดอก)[7],[8],[9]
- ช่วยรักษาโรคปอด (ดอก)[7],[9]
- ช่วยรักษาหอบหืด (ราก)[9]
- ช่วยแก้อาการไอ (ราก)[9]
- ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันและแก้อาการท้องผูก และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะเป็นผักที่มีไฟเบอร์สูงถึง 9.7 กรัม ซึ่งจัดอยู่ในผักที่มีเส้นใยอาหารมากที่สุด 10 อันดับของผักพื้นบ้านไทย (ใบ)[4],[7],[8]
- ผักแพวมีรสเผ็ดร้อน จึงช่วยแก้ลม ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ, ยอดผักแพว)[2],[3],[6],[9] ใช้เป็นยาขับลมขึ้นเบื้องบน ช่วยให้เรอระบายลมออกมาเวลาท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- รากผักแพวช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร (ราก)[7] แก้กระเพาะอาหารพิการหรือกระเพาะอักเสบ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8],[9]
- ช่วยแก้ท้องเสีย อุจจาระพิการ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ช่วยแก้อาการเจ็บท้อง (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ช่วยแก้อาการท้องรุ้งพุงมาน (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ใบผักแพวช่วยรักษาโรคพยาธิตัวจี๊ด แต่ต้องรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน[6]
- ลำต้นผักแพวใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[9]
- ราก ต้น ใบ และดอก นำมาปรุงเป็นยาได้ ใช้รักษาริดสีดวงทวาร (ใบ, ดอก, ต้น, ราก)[8]
- ช่วยรักษาโรคตับแข็ง (ใบ)[6]
- ช่วยลดอาการอักเสบ (ใบ)[2]
- ใบผักแพวใช้แก้ตุ่มคัน ผดผื่นคันจากเชื้อรา เป็นกลากเกลื้อน[6] ด้วยการใช้ใบหรือทั้งต้นนำมาคั้นหรือตำผสมกับเหล้าขาว แล้วใช้เป็นยาทา (ใบ, ทั้งต้น)[7]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ราก)[9]
- ช่วยรักษาอาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ราก)[7],[9]
- ช่วยแก้เส้นประสาทพิการ แก้เหน็บชาตามปลายนิ้วมือ ปลายเท้า และอาการมือสั่น (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงเลือดลมของสตรี (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
ข้อควรรู้ ! : ผักแพวหลัก ๆ แล้วจะมีอยู่สองชนิดที่ต่างกันแค่สีต้น คือ ผักแพวแดงและผักแพวขาว เป็นสมุนไพรคู่แฝดที่นำมาประกอบเป็นจุลพิกัดหรือใช้คู่กันเป็นยาสมุนไพรจะมีฤทธิ์ยาแรงขึ้น และมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นด้วย[8]
ประโยชน์ของผักแพว
- รสเผ็ดของผักแพวช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในเลือด เหมาะเป็นผักสมุนไพรลดความอ้วนได้โดยไม่ขาดสารอาหาร เพราะอุดมไปด้วยเส้นใยและวิตามิน แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่มากพอหรือวันละไม่น้อยกว่า 3 ขีด[8]
- ผักแพวมีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี โดยมีวิตามินเอสูงถึง 8,112 หน่วยสากล[1],[3] ในขณะที่อีกข้อมูลระบุว่ามีมากถึง 13,750 มิลลิกรัม[5]
- ผักแพวเป็นผักที่ติดอันดับ 8 ของผักที่มีวิตามินซีสูงสุด โดยมีวิตามินซี 115 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม[4]
- ผักแพวมีแคลเซียมสูงถึง 390 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงได้เป็นอย่างดี[4]
- ผักแพวมีธาตุเหล็กสูงสุดติด 1 ใน 5 อันดับของผักที่มีธาตุเหล็กสูง[4]
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้ประกอบอาหาร ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารเวียดนาม หรือนำมาหั่นเป็นฝอย ใช้คลุกเป็นเครื่องปรุงสดประกอบอาหารประเภทลาบ ลู่ ตำซั่ว ก้อยกุ้งสด ข้าวยำ แกงส้ม เป็นต้น[2]
- ใบผักแพวนำมาใช้แกงประเภทปลา เพื่อช่วยดับกลิ่นของเนื้อสัตว์หรือกลิ่นคาวปลาได้[2]
คุณค่าทางโภชนาการของผักแพว ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 54 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 7.7 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1.9 กรัม
- ไขมัน 0.5 กรัม
- โปรตีน 4.7 กรัม
- น้ำ 83.4%
- วิตามินเอ 8,112 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.59 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 77 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 79 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 2.9 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 272 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย)[1]
Tip : การเลือกซื้อผักแพว ควรเลือกซื้อผักแผวสด หรือดูที่ความสดของใบเป็นหลัก ไม่เหี่ยวและเหลือง แต่ถ้ามีรอยกัดแทะของหนอนและแมลงบ้างก็ไม่เป็นไร ส่วนการเก็บรักษาผักแพวก็เหมือนกับผักทั่ว ๆไป คือเก็บใส่ในถุงพลาสติกแล้วปิดให้สนิท หรือจะเก็บใส่กล่องพลาสติกสำหรับเก็บผักก็ได้ แล้วนำไปแช่ตู้เย็นในช่องผัก
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
- ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.foodnetwork.com. [12 ต.ค. 2013].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th)
- ไทยรัฐออนไลน์. “ผลวิจัยพบผักพื้นบ้านไทยคุณค่าเพียบ“. (นพ.สมยศ ดีรัศมี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [12 ต.ค. 2013].
- หนังสือผักพื้นบ้านต้านโรค. (พญ.ลลิตา ธีระสิริ).
- ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th. [12 ต.ค. 2013].
- บ้านมหาดอตคอม. “ผักแพว“. piboon. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.baanmaha.com. [12 ต.ค. 2013].
- “ผักแพว ผักพื้นบ้านรสแซ่บ ลดอ้วนแต่ไม่ลดสารอาหาร“. (จำรัส เซ็นนิล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [12 ต.ค. 2013].
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “ผักพื้นบ้านผักแพว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [12 ต.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักไผ่น้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [31 ส.ค. 2015].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)