ผักแขยง
ผักแขยง ตามหลักทางพฤกษศาสตร์แล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. และ Limnophila geoffrayi Bonati. (ชนิดต้นเล็ก พบได้มากทางภาคอีสาน)
ลักษณะของผักแขยง
ผักแขยง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. จะจัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักพา (ภาคเหนือ), จุ้ยหู่โย้ง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยฝูโหยง (จีนกลาง), ผักกะแยง แขยง คะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย เป็นต้น[1],[3]
- ต้นผักแขยง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน เป็นพืชฤดูเดียวหรือหลายฤดู และจัดเป็นวัชพืชในนาข้าว ลำต้นกลมกลวงและเป็นข้อ ๆ และมีความสูงได้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร อาจแตกกิ่งมากหรือไม่แตกกิ่ง ลำต้นทอดเลื้อย ผิวเกลี้ยงหรือมีต่อม แตกรากจากข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมฉุนและเผ็ดร้อน ออกดอกและติดในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินชื้นแฉะ มักขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้นอื่น ๆ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีน ภูฏาน เกาหลี ญี่ปุ่น ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย รวมทั้งไทยทั่วทุกภาคของประเทศ[1],[3],[4]
- ใบผักแขยง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบเป็นแบบขนนก ไม่มีก้านใบ[1],[3]
- ดอกผักแขยง ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ แต่จะออกดอกเป็นช่อกระจะตรงส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีแดง สีม่วง สีขาว หรือสีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร ก้านชูเกสรเพศผู้ส่วนปลายพองออก ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียสั้นแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[3]
- ผลผักแขยง ออกผลเป็นฝักยาวรี เมื่อแก่จะแตกออก ขนาดประมาณ 6 มิลลิเมตร[1]
ผักแขยง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila geoffrayi Bonati จะจัดอยู่ในวงศ์มณเฑียรทอง (SCROPHULARIACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะแยงแดง (อุบลราชธานี), กะแยง กะออม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ผักพา (ภาคเหนือ) เป็นต้น[2]
- ต้นผักแขยง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุเพียงฤดูเดียว ลำต้นเรียวยาว กลมกลวง อวบน้ำ มีขนหนาแน่น ลำต้นตั้งตรงและเป็นข้อ ๆ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-35 เซนติเมตร ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมฉุนและเผ็ดร้อน ขยายพันธุ์ด้วยการใช้ต้นอ่อนและการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินชื้นแฉะ มักขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้นอื่น ๆ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก[2]
- ใบผักแขยง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบรูปไข่แกมวงรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ไม่มีก้านใบ[2]
- ดอกผักแขยง ออกดอกเป็นช่อกระจะตรงซอกใบและส่วนยอดของต้น มีดอกย่อยประมาณ 2-10 ดอก โดยจะออกพร้อมกันทั้งต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปหลอดเล็ก ๆ คล้ายถ้วย รูปกรวย ยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ปลายบานออกเล็กน้อย แยกออกเป็นกลีบ 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วง ผิวด้านนอกเรียบ ส่วนด้านในตอนล่างของกลีบดอกมีขน[2]
- ผลผักแขยง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก ส่วนเมล็ดมีลักษณะรูปร่างกลมรี สีน้ำตาลดำ และมีขนาดเล็กมาก[2]
สรรพคุณของผักแขยง
- ผักแขยงมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร (ทั้งต้น)[3]
- หมอยาพื้นบ้านแนะนำว่า ให้กินผักแขยงเพื่อป้องกันเส้นเลือดตีบตันและไข้ร้อนใน (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ด้วยการใช้ต้นผักแขยงสด ๆ ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2]
- ตำรายาพื้นบ้านภาคอื่น ๆ จะใช้ผักแขยงทั้งต้นและรากเป็นยาแก้ไข้หัวลม โดยใช้ในปริมาณตามต้องการ ก่อนนำมาใช้ให้ล้างน้ำให้สะอาดเสียก่อน แล้วนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)[4]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับลมและเป็นยาระบายท้อง (ทั้งต้น)[2],[3]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้แก้อาการคัน กลาก และฝี ด้วยการใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น หรือนำมาคั้นเอาน้ำทา หรือนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้อาการบวม (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้พิษงู (สำหรับงูพิษที่ไม่มีพิษร้ายแรง) ด้วยการใช้ต้นสด ๆ ประมาณ 15 กรัม นำมาตำให้ละเอียดผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด ประมาณ 30 กรัม แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มในปริมาณพอควร คั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกรอบ ๆ บาดแผล แต่อย่าพอกบนบาดแผล (ต้น)[1],[2]
- ทั้งต้นแห้งที่เก็บไว้นาน 1 ปี เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่ม จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเบื่อเมา (ทั้งต้น)[2]
- ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้ผักแขยงทั้งต้นเป็นยาช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยจะนำมาใช้หลังจากการคลอดบุตรมาได้สักพักแล้ว เนื่องจากตอนคลอดบุตรใหม่ ๆ ร่างกายของคุณแม่อาจยังไม่เข้าที่หรือยังอ่อนแอมาก กลิ่นของผักแขยงอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวหรือคลื่นไส้ได้ (ทั้งต้น)[2],[4]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้น้ำนมแม่ที่มีรสเปรี้ยว (ทั้งต้น)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักแขยง
- ภายในต้นผักแขยงจะมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน โดยมีอยู่ประมาณ 0.13% และยังประกอบไปด้วย d-limonene และ d-perillaldehyde[1]
- น้ำมันหอมระเหยของผักแขยงมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะแมลงในกลุ่มทำลายผลไม้[4]
ประโยชน์ของผักแขยง
- ผักแขยงจัดเป็นผักพื้นบ้านในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยในการต้านมะเร็ง และต้านการเจริญของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้[5]
- การรับประทานผักแขยงแบบสด ๆ ยังช่วยดับกลิ่นตัว กลิ่นเต่าได้ด้วย[5]
- ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุปหน่อไม้ หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นช่วยดับกลิ่นคาวสำหรับต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมต่าง ๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมหอย อ่อมปลา อ่อมเนื้อวัว เป็นต้น[2],[4]
- ผักแขยง (ชนิด Limnophila aromatica (Lam.) Merr.) เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักแขยงต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 26 แคลอรี, น้ำ 92%, โปรตีน 1.2 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม, ใยอาหาร 1.2 กรัม, เถ้า 0.9 กรัม, วิตามินเอ 3,833 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.85 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.44 มิลลิกรัม, วิตามินซี 10 มิลลิกรัม, แคลเซียม 10 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.7 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 3.3 กรัม[3]
- ในปัจจุบันผักแขยงแห้งจัดเป็นสินค้าสำหรับการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศแล้ว เนื่องจากทั้งคนไทย ลาว เขมร เวียดนาม ที่นิยมบริโภคผักชนิดนี้ได้ไปพำนักพักอาศัยอยู่กันในแถบยุโรปและอเมริกาแล้ว[4]
- งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากผักแขยงมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ จึงได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และน้ำมันหอมระเหยของผักแขยงยังมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้ได้อีกด้วย[4]
- ส่วนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เกษตรกรจะนำผักแขยงมาใช้ในการไล่แมลง และยังมีงานวิจัยที่พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน และสารสกัดด้วยไอน้ำสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักพบปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารและนม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ซึ่งทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ[5]
- ในด้านของความเชื่อ มีเรื่องเล่ากันว่า ผู้ที่รับประทานผักแขยงสด ๆ ก่อนนอน ผีพ่อม่ายหรือผีแม่ม่ายจะไม่กล้ามาเอาไปเป็นผัวเมีย (ป้องกันโรคใหลตาย ซึ่งมักเกิดกับหนุ่มสาวทางภาคอีสาน)[5]
ข้อควรระวังในการใช้ผักแขยง
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[1] เพราะชาวอีสานเชื่อว่าหากสตรีมีครรภ์รับประทานผักแขยงแล้วจะเกิดอาการผิดสำแดง[3]
- มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผักแขยงมีสารแคลเซียมออกซาเลต (oxalate) ในปริมาณสูง โดยสารชนิดนี้จะไปสะสมในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วในอวัยวะต่าง ๆ ได้ จึงควรระมัดระวังในการรับประทานในปริมาณมากและเป็นประจำ แต่ตามภูมิปัญญาอีสานก็มีวิธีแก้ไขกันอยู่บ้าง คือการนำไปประกอบอาหารที่มีรสเปรี้ยว เพราะสารที่ให้รสเปรี้ยวนี้จะสามารถทำให้ผลิตออกซาเลตละลายได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักแขยง”. หน้า 470-471.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [23 ส.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 ส.ค. 2014].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “ผักแขยง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org. [23 ส.ค. 2014].
- ไทยโพสต์. “หอมผักแขยง ผักกลางนารสร้อนแรง ต้านมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [20 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Alpha, Phuong Tran), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)