ผักเบี้ยหิน
ผักเบี้ยหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Trianthema portulacastrum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักเบี้ยทะเล (AIZOACEAE)[1]
สมุนไพรผักเบี้ยหิน มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักโขมหิน, ผักขมหิน[1]
ลักษณะของผักเบี้ยหิน
- ต้นผักเบี้ยหิน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูกาลเดียว ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยแผ่ราบปกคลุมดินยาวได้ถึง 1 เมตร หรือมีลักษณะตั้งตรงบ้าง ลำต้นมีลักษณะกลมสดอวบน้ำหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียวอมม่วงหรือสีม่วงอมแดงอ่อน ๆ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตามกิ่งอ่อนและตามข้อจะมีขนขึ้นปกคุมเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดเต็มวัน มีความชื้นปานกลาง พบในข้าวไร่และนาดอนพื้นที่นาน้ำฝน[1],[3]
- ใบผักเบี้ยหิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปกลม หรือรูปหัวใจ ปลายใบมนเว้า โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ริมขอบใบเป็นสีม่วง แต่ละใบมีขนาดไม่เท่ากัน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ก้านใบยาวได้ประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ก้านใบมีลักษณะเป็นร่องเล็ก ๆ ด้านบน ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย[1],[3]
- ดอกผักเบี้ยหิน ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ด้านซ้ายหรือด้านขวาสลับกันในแต่ละข้อ ดอกจะฝังตัวในหลอดกลีบที่เชื่อมติด กับโคนก้านใบในซอกใบ ไม่มีก้านดอก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ข้าง ๆ หลอดกลีบจะมีใบประดับสีม่วงแกมเขียว 2 อัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลอดกลีบเป็นสีม่วงแกมเขียวติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1-1.5 มิลิเมตร ไม่ร่วง กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อนหรือสีชมพูแกมขาว แยกจากกัน มี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานปลายแหลม ตอนปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสีม่วง กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดอยู่บนกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นสีชมพู เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ superior ovary มีก้านเกสรเพศเมียยาว 3 มิลลิเมตร ยอดเกสรเป็นเส้น รังไข่เป็นรูปทรงกระบอกมี 1 ห้อง ออวุลมี 2-8 อัน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[3]
- ผลผักเบี้ยหิน ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปถ้วย ส่วนโคนของฝักจะอยู่ตามซอกใบ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีแดง แห้งแล้วจะแตก ภายในมีเมล็ดสีดำประมาณ 3-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ผิวเมล็ดมีลักษณะขรุขระเล็กน้อย เมล็ดมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.8-2 มิลลิเมตร[1],[3]
สรรพคุณของผักเบี้ยหิน
- ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นเป็นยาบำรุงโลหิต (ทั้งต้น)[1]
- รากมีสรรพคุณช่วยเจริญธาตุไฟ (ราก)[1]
- ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ (ราก)[1]
- รากใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก)[1]
- ช่วยแก้อาการเจ็บ แก้เหงือกบวม (ใบ)[3]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับลม (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้โรคท้องมาร เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ราก)[4]
- ในประเทศอินเดียจะใช้ทั้งต้นปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ใบ)[3]
- รากใช้เป็นยาช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้แท้งบุตรได้ (ราก)[4]
- ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก)[1]
- ใช้รักษาโรคไต (ทั้งต้น)[1]
- ใบใช้เป็นยาทาภายนอกแก้แผลอักเสบ (ใบ)[3]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ฟกบวม (ทั้งต้น)[1]
ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเบี้ยหิน
- จากการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยหินกับหนูทดลอง โดยแบ่งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่รักษาด้วยยามาตรฐานซึ่งใช้ลดน้ำตาลในเลือด (glibenclamide) ในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 2 กลุ่มให้สารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหิน ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหินสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทได้อย่างมีนัยสำคัญหลังกินเข้าไป 1 ชั่วโมง และจะออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลได้ดีที่สุดหลังกินเข้าไป 4 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้เทียบเท่ากับการรักษาโดยใช้ยามาตรฐานที่ใช้ลดน้ำตาลในเลือด (glibenclamide)[2]
ประโยชน์ของผักเบี้ยหิน
- ใช้ปรุงเป็นอาหารหรือรับประทานสด[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักโขมหิน”. หน้า 474-475.
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacastrum ) ช่วยลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่เป็นเบาหวาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [20 พ.ย. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “ผักเบี้ยหิน แก้เจ็บคอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [20 พ.ย. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักเบี้ยหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [20 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phuong Tran, Forest and Kim Starr, Russell Cumming, CANTIQ UNIQUE, CoolKatie, Barry Hammel)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)