ผักเค็ด
ผักเค็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna sophera (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia sophera L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]
ผักเค็ด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักเค็ด ผักเคล็ด (กรุงเทพฯ), ผักหวานบ้าน (กลาง), ขี้เหล็กน้อย, ขี้เหล็กเทศ, ขี้เหล็กผี, ผักเห็ด เป็นต้น[1]
ลักษณะของผักเค็ด
- ต้นผักเค็ด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ต้น กิ่งก้านมีขนาดไม่ใหญ่นัก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ในประเทศไทยสามารถพบต้นผักเค็ดได้ทั่วไปตามที่รกร้างต่าง ๆ[1]
- ใบผักเค็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ใบมีลักษณะคล้ายกับใบมะยมหรือใบแสมสาร แผ่นใบเป็นสีเขียวเป็นมัน[1]
- ดอกผักเค็ด ดอกออกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบ ดอกเป็นสีเหลืองมีลักษณะคล้ายกับดอกขี้เหล็ก[1]
- ผลผักเค็ด ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบ่งออกเป็นข้อ ๆ คล้ายกับฝักถั่วเขียว แต่จะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าประมาณ 3-4 ฟุต[1]
สรรพคุณของผักเค็ด
- รากผักเค็ด มีรสขมเป็นยาเย็น ใช้เป็นยาดับพิษร้อนภายในร่างกาย ช่วยดับพิษทั้งปวง (ราก)[1],[2]
- ใบมีรสขม ใช้เข้ายาเขียวแก้ไข้ (ใบ)[2]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[2]
- ใบใช้ปรุงเป็นยารักษาบาดแผล (ใบ)[1]
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน (ใบ)[1]
ประโยชน์ของผักเค็ด
- ยอดอ่อน ดอกอ่อน ใช้รับประทานได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักเค็ด”. หน้า 485.
- หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักหวานบ้าน”. หน้า 61.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักหวานบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [04 ก.ค. 2017].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steen Jeppesen)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)