ผักหนอก สรรพคุณของผักหนอก 6 ข้อ ! (ผักหนอกเขา)

ผักหนอก สรรพคุณของผักหนอก 6 ข้อ ! (ผักหนอกเขา)

ผักหนอก

ผักหนอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle javanica Thunb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle nepalensis Hook., Hydrocotyle polycephala Wight & Arn.) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย HYDROCOTYLOIDEAE[1],[2]

สมุนไพรผักหนอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหนอกดอย (เชียงใหม่), บัวบกเขา (นครศรีธรรมราช), ผักแว่นเขา (ตราด), ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ), ผักหนอก (ภาคใต้), กะเซดอมีเดาะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), ผักหนอกป่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ผักหนอกเขา เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ข้อมูลจากเว็บไซต์ The Plant List ระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE)

ลักษณะของผักหนอก

  • ต้นผักหนอก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15-40 เซนติเมตร กิ่งก้านชูตั้งขึ้น ส่วนลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]

ต้นผักหนอก

  • ใบผักหนอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ส่วนมากมีด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบใบหยักโค้งเป็นหยักมนประมาณ 5-7 หยัก หรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ 3-9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบออกจากโคน 7-9 เส้น ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงของใบทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 17 เซนติเมตร มีขนยาวขึ้นปกคลุม[1],[2]

ผักหนอกป่า

  • ดอกผักหนอก ออกดอกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีหลายช่อ ก้านช่อส่วนมากมีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่าเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะสั้นกว่าก้านใบ ช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่ม มีดอกจำนวนมาก ขนาดเล็ก ก้านดอกสั้นมากหรือยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบประดับ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือขาวแกมเขียว หรือมีแต้มสีม่วงแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม[1],[2]

ผักหนอกเขา

  • ผลผักหนอก ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ แยกเป็น 2 ซีก ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปโล่หรือรูปกลมแป้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-1.8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.3 มิลลิเมตร สีเขียวเข้มถึงน้ำตาลแดง เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียติดทน บานออก[1],[2]

สรรพคุณของผักหนอก

  1. ทั้งต้นใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอก หูเสือทั้งต้น สะระแหน่ทั้งต้น ฮางคาวทั้งต้น รากหญ้าคา และตาอ้อยดำ นำมาแช่กับน้ำหรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาเย็น แก้ไข้ชักในเด็ก (ทั้งต้น)[1]
  2. ใบใช้ตำประคบแก้ไข้ (ใบ)[1]
  3. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอ (ทั้งต้น)[3]
  4. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ผักหนอกทั้งต้น นำมาต้มกับไก่และเนื้อในเมล็ดท้อนึ่งกินแก้อาการบวมจากโรคไต (ทั้งต้น)[1]
  5. ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้ผักหนอกทั้งต้น นำมาตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก และใช้เป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[1],[3]
  6. ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ช้ำใน (ทั้งต้น)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักหนอก”.  หน้า 128.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักหนอกเขา”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [15 พ.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ผักหนอกเขา”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [15 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman, bob|P-&-S, Siddarth Machado)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด