ผักปลาบ สรรพคุณและประโยชน์ของผักปลาบใบแคบ 9 ข้อ !

ผักปลาบ สรรพคุณและประโยชน์ของผักปลาบใบแคบ 9 ข้อ !

ผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบใบแคบ ชื่อสามัญ Climbing dayflower, Frenchweed, Spreading dayflower, Wandering jew, Watergrass[3]

ผักปลาบใบแคบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Commelina diffusa Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Commelina longicaulis Jacq.) จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[3]

สมุนไพรผักปลาบใบแคบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปลายขอบใบเรียว (เชียงใหม่), ผักปลาบ (ภาคกลาง), ด่อเบล่ร่อด ด่อเบล่บรู้ (ปะหล่อง), โต่ะอูเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ผักปลาบนา, หญ้ากาบผี, กินกุ้งน้อย เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[6]

ลักษณะของผักปลาบใบแคบ

  • ต้นผักปลาบใบแคบ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก อายุปีเดียว ลำต้นแตกกิ่งก้านทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินหรือริมชายน้ำและชูยอดขึ้น สูงได้ประมาณ 30-155 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมอวบน้ำไม่มีขน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.1-4.9 มิลลิเมตร มีรากออกตามข้อ ขยายพันธุ์โดยใช้ลำต้นและเพาะเมล็ด มักพบขึ้นในที่ชื้นแฉะในที่ร่มเงา ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ที่ร่มทึบ ใกล้ลำธาร และในสวนป่า เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 27-357 เมตร[1],[3],[5],[6]

ต้นผักปลาบใบแคบ

  • ใบผักปลาบใบแคบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย จะสังเกตได้เมื่อใช้เลนส์ขยาย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-2.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.1-12.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย หน้าใบไม่มีขน ผิวหน้าใบสากมือ ส่วนหลังใบนุ่มไม่มีขนถึงมีขนน้อยมาก กาบใบยาวประมาณ 1.1-3.2 เซนติเมตร ขอบกาบใบมีขนยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร[1],[3]

ใบผักปลาบใบแคบ

  • ดอกผักปลาบใบแคบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกย่อย 1-3 ดอก กลีบดอกเป็นสีม่วงน้ำเงินหรือสีม่วงคราม มีใบประดับสีเขียวหุ้มช่อดอก หลังใบประดับมีขนยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ขึ้นปกคลุมปานกลาง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ สีเขียวอ่อนใสถึงสีม่วงอ่อนใส อับเรณูมี 6 อัน ซึ่ง 4 อันเป็นหมันจะเป็นสีเหลืองสด ส่วนอีก 2 อันไม่เป็นหมันจะเป็นสีม่วงคราม ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีม่วงคราม ก้านเกสรเพศเมียและก้านชูอับเรณูเป็นสีม่วงอ่อนใส ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[3]

รูปผักปลาบใบแคบ

ดอกผักปลาบใบแคบ

ผักปลาบขอบใบเรียว

  • ผลผักปลาบใบแคบ ผลเป็นแห้งและแตกได้ตามพูหรือตามตะเข็บ ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ[1]

ผลผักปลาบใบแคบ

สรรพคุณของผักปลาบใบแคบ

  1. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (ทั้งต้น)[6]
  2. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นของผักปลาบใบแคบผสมกับก้นจ้ำทั้งต้น รากสาบเสือ รากปืนนกไส้ และรากมะเหลี่ยมหิน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอมีน้ำมูกข้น (ลำต้น)[1],[3]
  3. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการหูอื้อ ปวดหู (ใบ,ทั้งต้น)[1],[3]
  4. ใช้เป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[6]
  5. ชาวเขาเผ่าอีก้อและแม้วจะใช้ใบหรือทั้งต้น นำมาตำคั้นเอาน้ำทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน หูด (ใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[6] แก้โรคเรื้อน แก้อาการระคายเคืองผิวหนัง (ทั้งต้น)[6]
  6. ใบหรือทั้งต้นนำมาตำคั้นเอาน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก และใช้เป็นยาห้ามเลือด (ใบ,ทั้งต้น)[1],[3]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวด (ทั้งต้น)[6]

ประโยชน์ของผักปลาบใบแคบ

  1. ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบ มีรสหวานเย็นรับประทานได้ทั้งดิบและสุก ใช้เป็นผักแกล้ม ผักจิ้มกับน้ำพริกปลาทู แกงผักรวม แกงเลียง แกงส้ม หรือนำมาแกงใส่ปลารับประทานเป็นอาหาร[2],[5],[6]
  2. ใช้เป็นอาหารสัตว์แทะเล็มจำพวกโคเนื้อ โคนม กระบือ โดยคุณค่าทางอาหารของต้นผักปลาบใบแคบที่มีอายุได้ 45 วัน จะประกอบไปด้วย โปรตีน 16.8-19.6%, แคลเซียม 1.6-6.5%, ฟอสฟอรัส 0.31%, โพแทสเซียม 4.4%, ADF 31.5-35.4%, NDF 42-51.1%, ลิกนิน 8.1-9.8%, DMD 59.7-68.3% (โดยวิธี Nylon bag) ธาตุเหล็ก 587 ppm, ไนเตรท 136 ppm และออกซาลิกแอซิด 913 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักปลาบ”.  หน้า 78.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ผักปลาบ”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [16 พ.ย. 2014].
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “ผักปลาบใบแคบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: nutrition.dld.go.th.  [16 พ.ย. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ผักปลาบนา”.  อ้างอิงใน: หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [16 พ.ย. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ผักปลาบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [16 พ.ย. 2014].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักปลาบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [16 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, urbanhen, Phuong Tran, eyeweed, Russell Cumming, Forest and Kim Starr, Scamperdale)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด