ผักบุ้ง
ผักบุ้ง ชื่อสามัญ Swamp morning glory, Thai water convolvulus, Morning glory, Water spinach, Water morning glory, Swamp cabbage
ผักบุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea aquatica Forssk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ipomoea reptans Poir.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
ผักบุ้งมีชื่อเรียกอื่นว่าผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เรามักจะคุ้นเคยกันมาตลอดว่ามีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา แต่จริง ๆ แล้วผักชนิดนี้ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ๆ
แต่ก่อนจะไปรู้ถึงประโยชน์มาดูกันก่อนว่าผักบุ้งที่นิยมนำมาใช้รับประทานนั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน สำหรับผักบุ้งไทยเป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะมียางมากกว่าผักบุ้งจีน ส่วนผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ (แต่ปลูกได้เองแล้วที่เมืองไทย) โดยส่วนมากที่นิยมปลูกขายก็คือผักบุ้งจีน เพราะลำต้นค่อนข้างขาว ใบเขียวอ่อน ดอกขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย จึงได้รับความนิยมในการรับประทานมากกว่าผักบุ้งไทยนั่นเอง
ในผักบุ้ง 100 กรัมจะให้พลังงาน 22 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น ผักบุ้งไทยนั้นจะมีวิตามินซีสูงและสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบตาแคโรทีน (วิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา) น้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานสด ๆ ได้ จะทำให้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ไม่เสียไปกับความร้อนอีกด้วย
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติไปช่วยลดความดันโลหิต จะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปใหญ่ อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
สรรพคุณของผักบุ้ง
- มีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ความแก่ชรา และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
- มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดหรือลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็งได้
- ช่วยบำรุงสายตา รักษาอาการตาต้อ ตาฝ้าฟาง ตาแดง สายตาสั้น อาการคันนัยน์ตาบ่อย ๆ
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ต้นสดของผักบุ้งใช้เป็นยาดับร้อน แก้อาการร้อนใน
- ต้นสดของผักบุ้งช่วยในการบำรุงโลหิต
- ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในด้านความจำและการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
- ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาท
- ช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก (รากผักบุ้ง)
- มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
- ช่วยแก้อาการเหงือกบวม
- ช่วยรักษาแผลร้อนในในปาก ด้วยการนำผักบุ้งสดมาผสมเกลือ อมไว้ในปากประมาณ 2 นาที วันละ 2 ครั้ง
- ฟันเป็นรูปวด ให้ใช้รากสด 120 กรัม ผสมกับน้ำส้มสายชู คั้นเอาน้ำมาบ้วนปาก
- ใช้แก้อาการไอเรื้อรัง (รากผักบุ้ง)
- แก้เลือดกำเดาไหลออกมากผิดปกติ ด้วยการใช้ต้นสดมาตำผสมน้ำตาลทรายแล้วนำมาชงน้ำร้อนดื่ม
- ใช้แก้โรคหืด (รากผักบุ้ง)
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหาร
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากผลของยาแอสไพริน
- ช่วยป้องกันโรคท้องผูก
- ยอดผักบุ้งมีส่วนช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพ
- ช่วยทำความสะอาดของเสียที่ตกค้างในลำไส้
- ผักบุ้งจีนมีฤทธิ์ช่วยในการขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลือง
- ช่วยแก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายออกมาเป็นเลือด ด้วยการใช้ลำต้นคั้นนำน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งดื่ม
- ช่วยแก้หนองใน ด้วยการใช้ลำต้นคั้นนำน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งดื่ม
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นสด 1 กิโล / น้ำ 1 ลิตร นำมาต้มให้เละ เอากากทิ้งแล้วใส่น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม แล้วเคี่ยวจนข้นหนืด รับประทานครั้งละ 90 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- ช่วยแก้อาการตกขาวมากของสตรี (รากผักบุ้ง)
- ผักบุ้งรสเย็นมีสรรพคุณช่วยถอนพิษเบื่อเมา
- รากผักบุ้งรสจืดเฝื่อนมีสรรพคุณช่วยถอนพิษสำแดง
- ผักบุ้งขาวหรือผักบุ้งจีนช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ผักบุ้งไทยต้นขาว)
- ดอกของผักบุ้งไทยต้นขาวใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อน
- ใช้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ผักบุ้งไทยต้นขาว)
- แก้แผลมีหนองช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดต้มน้ำให้เดือดนาน ๆ ทิ้งไว้พออุ่นแล้วเอาน้ำล้างแผลวันละครั้ง
- ช่วยแก้พิษตะขาบกัด ด้วยการใช้ต้นสดเติมเกลือ นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด
- ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวช่วยลดการอักเสบ อาการปวดบวม
- ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
- ใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหรือผู้ที่ได้รับสารพิษต่าง ๆ เช่น เกษตรกร เป็นต้น
ประโยชน์ของผักบุ้ง
- นำมาใช้ในการประกอบอาหารอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะผัด แกง ดอง ได้หมด เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง ส้มตำ แกงส้ม แกงเทโพ ยําผักบุ้งกรอบ เป็นต้น
- ผักบุ้งนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เหมือนกัน เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา เป็นต้น (มีหลายคนเข้าใจผิดว่ากระต่ายชอบกินผักบุ้ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะอาจจะทำให้ท้องเสียได้ เพราะผักบุ้งมียาง ยกเว้นกระต่ายโต ถ้าจะให้กินไม่ควรให้บ่อยและให้ทีละนิด)
- ผักบุ้ง ประโยชน์ข้อสุดท้ายนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผักบุ้งแคปซูล ผงผักบุ้ง เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของผักบุ้งต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 19 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 3.14 กรัม
- เส้นใย 2.1 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- โปรตีน 2.6 กรัม
- วิตามินเอ 315 ไมโครกรัม 39%
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 3 0.9 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 5 0.141 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 6 0.096 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 9 57 ไมโครกรัม 14%
- วิตามินซี 55 มิลลิกรัม 66%
- ธาตุแคลเซียม 77 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุเหล็ก 1.67 มิลลิกรัม 13%
- ธาตุแมกนีเซียม 71 มิลลิกรัม 20%
- ธาตุแมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุโพแทสเซียม 312 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุโซเดียม 113 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม 2%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2553, www.stuartxchange.org/Kangkong.html
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)