ผักชีลาว
ผักชีลาว ชื่อสามัญ Dill (อ่านว่า ดิล)
ผักชีลาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Anethum graveolens L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ผักชีลาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักชีเมือง (น่าน), ผักชีเทียน ผักชีตั๊กแตน (พิจิตร), ผักชี (เลย, ขอนแก่น), เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน (ภาคกลาง) เป็นต้น
ผักชีลาว เป็นผักที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้หลาย ๆ คนชื่นชอบ แต่สำหรับบางคนถึงกับส่ายหัวเลยทีเดียว แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ ผักชีลาวก็เป็นพืชผักสมุนไพรที่ทรงคุณค่ามากมาย เพราะคุณค่าทางโภชนาการของผักชีลาวนั้นประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่สูงอีกด้วย
นอกจากนี้ผักชีลาวยังมีสรรพคุณทางยามากมายที่ช่วยเพิ่มการทำงานของกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหารที่รับประทาน แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และยังมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด และช่วยกระตุ้นการหายใจได้อีกด้วย สำหรับประโยชน์เต็ม ๆ ดูด้านล่างเลยครับ
สรรพคุณของผักชีลาว
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก ช่วยในการชะลอวัย
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับตาต่าง ๆ (เพราะมีวิตามินเอสูงมาก)
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (มีแคลเซียมสูง)
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลังชั่วคราว (ผลแก่)
- ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง
- ช่วยยับยั้งหรือช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (เบตาแคโรทีน)
- ช่วยขยายหลอดเลือด
- ช่วยบำรุงปอด (ผล)
- ช่วยขับเหงื่อ (ทั้งต้น)
- ช่วยกระตุ้นการหายใจ
- แก้หอบหืด (ผล)
- ช่วยแก้อาการไอ (ผล)
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ผล)
- ช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำนมสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร (ใบ)
- ช่วยลดอาการโคลิค (Baby colic) หรืออาการ “เด็กร้องร้อยวัน” ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นลม (ผล)
- ช่วยส่งเสริมการทำงานของกระเพาะอาหาร (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว (ผลแก่)
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว หรือจะใช้ต้นสดนำมาผสมกับนมให้เด็กอ่อนดื่มแก้อาการก็ได้เช่นกัน (ผลแก่)
- แก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 50 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำจนข้นแล้วรับประทาน (ต้นสด)
- ช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว (ผลแก่)
- ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้ใบสดหรือยอดอ่อนนำมาต้มกินเป็นอาหาร (ใบ)
- แก้อาการปัสสาวะขัด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 50 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชา (ใบ)
- ช่วยรักษาไส้ติ่งอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัมนำมาต้มกับน้ำกิน (ต้นสด)
- ช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ด้วยการใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝีวันละ 2 ครั้ง (ใบ)
- ช่วยแก้อาการบวม (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้เหน็บชา (ทั้งต้น)
- ช่วยทำให้ง่วงนอน (ผล)
ประโยชน์ของผักชีลาว
- ผลหรือเมล็ดมีน้ำมันหอมระเหย นำมาผลิตใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น สบู่ โลชั่นบำรุงผิว เป็นต้น (ผล)
- ใบนิยมนำมาใส่แกงอ่อม แกงหน่อไม้ ห่อหมก น้ำพริกปลาร้า ผักชีลาวผัดไข่ ยอดของใบใช้รับประทานกับลาบและยังช่วยชูรสชาติอาหารอีกด้วย (ใบ)
- ผลนิยมนำมาบดโรยบนมันฝรั่งบดหรือสลัดผักเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติของอาหาร (ผล)
- ใบสดและแห้งนิยมนำมาโรยบนอาหารประเภทปลาเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว (ใบ)
- น้ำมันผักชีลาวนำมาใช้แต่งกลิ่นผักดอง สตูว์ น้ำซอส ของหวาน และเครื่องดื่มรวมไปถึงเหล้าด้วย (น้ำมันผักชีลาว)
คุณค่าทางโภชนาการของผักชีลาวสดต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 7 กรัม
- เส้นใย 2.1 กรัม
- ไขมัน 1.1 กรัม
- โปรตีน 3.5 กรัม
- วิตามินเอ 7,717 ไมโครกรัม (154%)
- วิตามินบี 1 0.1 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 2 0.3 มิลลิกรัม 25%
- วิตามินบี 3 1.6 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 5 0.4 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 6 0.2 มิลลิกรัม 15%
- วิตามินบี 9 150 ไมโครกรัม 38%
- วิตามินบี12 0 ไมโครกรัม 0%
- วิตามินซี 85 มิลลิกรัม 102%
- ธาตุแคลเซียม 208 มิลลิกรัม 21%
- ธาตุเหล็ก 6.6 มิลลิกรัม 51%
- ธาตุแมกนีเซียม 55 มิลลิกรัม 15%
- ธาตุแมงกานีส 1.3 มิลลิกรัม 62%
- ธาตุฟอสฟอรัส 66 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุโพแทสเซียม 738 มิลลิกรัม 16%
- ธาตุโซเดียม 61 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุสังกะสี 0.9 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุทองแดง 0.14 มิลลิกรัม 7%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนันการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)