ผักชี
ผักชี ชื่อสามัญ Coriander
ผักชี ชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ผักชี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักชีไทย (ความหมายที่เข้าใจโดยทั่วไป), ผักหอม (นครพนม), ยำแย้ (กระบี่), ผักหอมป้อม ผักหอมผอม (ภาคเหนือ), ผักหอมน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น
ผักชี มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ถ้าเป็นต่างประเทศจะเพาะปลูกในแถบทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศอินเดีย เป็นพืชผักที่สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงที่เหมาะที่สุดคือฤดูหนาว เพราะจะทำให้ผักชีโตเร็วมาก
ผักชีไทย เป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ เพื่อทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แถมยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายประการอีกด้วย และด้วยสีเขียวสดของผักชีและรูปร่างของใบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ผักชีไทยจึงเป็นที่นิยมในการนำมาทำเป็นผักแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานอีกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผักชีโรยหน้า” ซึ่งมีความหมายว่า ทำอะไรให้ดูดีแค่ภายนอกหรือการทำความดีอย่างผิวเผิน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง !
การรับประทานผักชีควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม หากรับประทานมากจนเกินไปอาจจะทำให้มีกลิ่นตัวแรง มีอาการตาลาย ลืมง่ายได้
สรรพคุณของผักชี
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
- ช่วยให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผงรับประทานหรือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล, ใบ)
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ใบ)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเลือดพลาสมาและกล้ามเนื้อ (ใบ)
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง (ใบ)
- ช่วยขับเหงื่อ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือจะคั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่มแก้อาการก็ได้ (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว ไข้อีดำอีแดง (ราก)
- ช่วยแก้อาการหวัด (ใบ)
- ช่วยแก้ไอ (ใบ)
- ช่วยละลายเสมหะ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือจะคั้นเอาเฉพาะน้ำมาดื่มแก้อาการก็ได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ใบ)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอาหารเป็นพิษ (ใบ)
- ใช้แก้อาการปวดฟัน เจ็บปาก ด้วยการใช้ผลนำมาต้มน้ำ แล้วนำมาอมบ้วนปากบ่อย ๆ (ผล)
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผงรับประทานหรือนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล)
- ผลแก่ใช้เป็นเครื่องเทศ มีกลิ่นหอม เมื่อใช้ผสมกับตัวยาอื่น จะช่วยกระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น (ผลแก่)
- ช่วยรักษาอาการปวดท้อง (ผล)
- ช่วยแก้อาการบิด ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ผลประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแล้วนำมาผสมน้ำดื่ม (ผล)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลประมาณ 2 ช้อนชานำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล)
- ช่วยย่อยอาหาร (ผล, ใบ)
- ช่วยขับลมในกระเพาะ (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก ด้วยการใช้ผลสดนำมาบดให้แตกผสมกับเหล้า ดื่มวันละ 5 ครั้ง หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาใส่นม 2 แก้วผสมน้ำตาลดื่ม (ผล, ต้นสด)
- ช่วยแก้พิษตานซาง (ใบ)
- ช่วยแก้ตับอักเสบ (ใบ)
- ช่วยขับลมพิษ (ใบ)
- ช่วยแก้โรคหัด (ใบ)
- ใช้รักษาเหือด หิด อีสุกอีใส (ราก)
- ช่วยต่อต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และไข่ของแมลง (ใบ)
- ช่วยแก้เด็กเป็นผื่นแดง ไฟลามทุ่ง ด้วยการใช้ต้นสด นำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้าแล้วต้มให้เดือด นำมาใช้ทา (ต้นสด)
- ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้น โดยใช้ต้นสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ใส่ลงไปในเหล้า ต้มให้เดือด นำมาใช้ทา (ต้นสด)
- ช่วยลดอาการปวดบวมตามข้อ (ใบ)
ประโยชน์ของผักชี
- ใบนำมารับประทานเป็นผักแนม รับประทานกับอาหารอื่น หรือนำมาใช้ปรับแต่งหน้าอาหาร (ใบ)
- ช่วยถนอมอาหาร (ใบ)
- ช่วยดับกลิ่นเนื้อและกลิ่นคาวต่าง ๆ (ผล)
คุณค่าทางโภชนาการของผักชีสดต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 23 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 3.67 กรัม
- น้ำตาล 0.87 กรัม
- เส้นใย 2.8 กรัม
- ไขมัน 0.52 กรัม
- โปรตีน 2.13 กรัม
- น้ำ 92.21 กรัม
- วิตามินเอ 337 ไมโครกรัม (42%)
- เบตาแคโรทีน 3,930 ไมโครกรัม (36%)
- ลูทีนและซีแซนทีน 865 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.067 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 2 0.162 มิลลิกรัม 14%
- วิตามินบี 3 1.114 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 5 0.57 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 6 0.149 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 9 62 ไมโครกรัม 16%
- วิตามินบี 12 0 ไมโครกรัม 0%
- วิตามินซี 27 มิลลิกรัม 33%
- วิตามินอี 2.5 มิลลิกรัม 17%
- วิตามินเค 310 ไมโครกรัม 295%
- ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุเหล็ก 1.77 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุแมกนีเซียม 26 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุแมงกานีส 0.426 มิลลิกรัม 20%
- ธาตุฟอสฟอรัส 48 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุโพแทสเซียม 521 มิลลิกรัม 11%
- ธาตุโซเดียม 46 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุสังกะสี 0.5 มิลลิกรัม 5%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : www.rspg.or.th, www.samunpri.com, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)