ผักคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวน ชื่อสามัญ Para cress, Tooth-ache plant, Toothache plant, Brazil cress toothache plant, Pellitary, Spot flower
ผักคราดหัวแหวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Spilanthes acmella var. oleracea (L.) C.B.Clarke, Spilanthes oleracea L.)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spilanthes acmella (L.) Murr[1] โดยจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]
สมุนไพรผักคราดหัวแหวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักคราด หญ้าตุ้มหู, ผักเผ็ด (ภาคเหนือ), ผักตุ้มหู (ภาคใต้), อึ้งฮวยเกี้ย เป็นต้น[1],[2] โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิลเขตร้อนและอเมริกา พบเป็นวัชพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปาปัวนิวกินี[4]
ลักษณะของผักคราดหัวแหวน
- ต้นผักคราดหัวแหวน จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นกลมและอวบน้ำ แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร ต้นมีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม หรือทอดไปตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้น ลำต้นอ่อนและมีขนปกคลุมขึ้นอยู่เล็กน้อย สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในที่ลุ่ม ชื้อแฉะ หรือตามป่าละเมาะ รวมไปถึงที่รกร้างหรือที่ราบโล่งแจ้ง[1]
- ใบผักคราดหัวแหวน มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ หรือเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยแบบหยาบ ๆ ส่วนของก้านใบมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวของใบมีขนและสาก แผ่นใบกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ[1]
- ดอกผักคราดหัวแหวน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นกระจุกสีเหลือง ดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นดอกตัวเมีย ส่วนวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านของดอกเรียวยาว และยาวประมาณ 2.5-15 เซนติเมตร ยกตั้งทรงกลมคล้ายกับหัวแหวน มีริ้วประดับอยู่ 2 ชั้น เป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เกลี้ยง ในส่วนของดอกวงนอกที่เป็นดอกตัวเมียมี 1 วง กลีบดอกเป็นรูปรางน้ำ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ มีปลายแยกเป็น 4-5 แฉก[1]
- ผลผักคราดหัวแหวน เป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีสัน 3 สัน ส่วนปลายเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย ที่รยางค์มีหนามอยู่ 1-2 อัน[1]
คราดหัวแหวน เป็นผักที่เป็นทั้งอาหารและเป็นทั้งยาสมุนไพร โดยส่วนที่นิยมนำมาบริโภคหรือใช้ในการปรุงอาหารคือส่วนของใบและดอก และยังเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่ช่วยแก้อาการในช่องปาก เช่น การใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน มีฤทธิ์เป็นยาชา แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ย่อมรู้จักดอกกานพลูในฐานะยาแก้ปวดฟันเสียมากกว่า เพราะหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักกับผักชนิดนี้กันมากนัก[5]
สรรพคุณของผักคราดหัวแหวน
- ต้นสดมีรสเผ็ดร้อน ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น)[1] ส่วนดอกก็มีรสเผ็ดร้อน ช่วยในการเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นและเรียกน้ำลายได้เช่นกัน (ดอก)[5]
- ใช้เป็นอาหารบำรุงธาตุสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรและมีอาการวิงเวียนศีรษะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
- ทั้งต้นมีรสเอียนและเบื่อเล็กน้อย ช่วยแก้พิษตานซางได้ (ต้น, ทั้งต้น, ราก)[1],[2]
- ช่วยแก้เด็กร้องไห้ ซางวันจันทร์ รักษาซางน้ำ (ทั้งต้น)[6] ซางแดง (ใบ)[6]
- ดอกช่วยรักษารำมะนาด (ดอก)[1]
- ช่วยรักษาดีซ่าน (ทั้งต้น)[1] ด้วยการใช้ผักคราดและเฟิร์นเงินอย่างละ 1 ตำลึง นำมาต้มกินวันละ 2 ครั้ง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ใบมีรสหวาน ขมเอียน เบื่อเล็กน้อย และชาลิ้น ช่วยแก้อาการผอมเหลือง (ใบ, ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการตาฟาง (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก, ใบ, ราก)[1],[2],[4] แก้มึน (ใบ)[1]
- ดอกเมื่อนำมาใช้ผสมกับตำรับยาสมุนไพรอื่น จะมีสรรพคุณช่วยแก้ลมตะกังหรืออาการปวดหัวข้างเดียวได้ (ดอก)[6]
- ช่วยแก้อาการเด็กตัวร้อน (ใบ, ทั้งต้น)[1]
- ผักคราดหัวแหวนมีสาร Spilanthol ที่มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อปรสิตที่อยู่ในกระแสเลือดอย่างเชื้อมาลาเรีย โดยไม่มีพิษต่อคน จึงมีแนวโน้มว่าการรับประทานผักคราดหัวแหวนจะช่วยป้องกันโรคมาลาเรียได้ (ใบ, ดอก)[7]
- ผลนำมาใช้เป็นยาแก้ร้อนในได้ (ผล)[1]
- ช่วยแก้ไข้ (ต้น, ทั้งต้น)[2] แก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ผักคราดนำมาต้มใส่น้ำตาลแดง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- แก้ตัวร้อน ด้วยการใช้ผักคราดและเฟิร์นเงินอย่างละ 1 ตำลึง นำมาต้มกินวันละ 2 ครั้ง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ช่วยแก้อาการหอบไอ ระงับอาการหอบ (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการไอ ไอหวัด ไอกรน (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (ทั้งต้น)[1],[2] ด้วยการใช้ต้นแห้งนำมาบดเป็นผง ทำเป็นยาน้ำเชื่อม (ในน้ำเชื่อม 10 มิลลิลิตร ให้มีเนื้อยา 3.2 กรัม) ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 30 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน[9]
- ช่วยแก้ปอดบวม (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการชอกช้ำภายในทรวงอก (ทั้งต้น)[1]
- ดอกมีรสเผ็ดและชาลิ้น ใช้เป็นยาขับน้ำลายได้ (ดอก)[1]
- เมล็ดใช้เคี้ยวเป็นยาแก้อาการปากแห้งและเป็นยาขับน้ำลายได้ (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้โรคในคอ รักษาแผลในปากและคอ (ดอก)[1]
- ต้นสดนำมาตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แล้วนำมาอมแก้ฝีในคอได้ (ต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้ตำผสมกับเหล้าโรง ชุบด้วยสำลี แล้วนำมาอมแก้คออักเสบ อาการคันคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ และช่วยแก้ฝีในคอ (ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้หรือลดอาการปวดฟันและฟันผุ ด้วยการใช้ดอกผักคราดตำกับเกลือแล้วนำมาอมหรือกัดไว้บริเวณที่มีอาการปวดฟัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ชุบด้วยสำลีแล้วนำมาอุดรูฟันที่มีอาการปวด (ดอก)[1],[2],[4],[5] หรือจะใช้ใบนำมาเคี้ยวเป็นยาแก้ปวดฟัน ยาชาได้ (ใบ)[1],[2],[4] หรือจะใช้ต้นสดนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำส้มสายชูแล้วอมแก้อาการ หรืออีกวิธีให้ใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกหรือเอาน้ำมาทาถูนวด โดยใช้ต้นสด 1 ต้นที่ตำละเอียดแล้ว เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นน้ำ แล้วใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน จะทำให้หายปวดฟันได้ (ต้น)[1] หรือใช้รากนำมาเคี้ยวแก้อาการปวดฟันก็ได้ (ราก)[1],[2] ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดเหงือกปวดฟันได้ด้วย (ทั้งต้น)sup>[2]
- ช่วยรักษาแมงกินฟัน (ดอก)[5]
- น้ำต้มรากใช้เป็นยาบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปาก แก้อาการอักเสบ และแก้เจ็บคอ (ราก[1], ต้น[2])
- ช่วยแก้คอตีบตัน (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้โรคลิ้นเป็นอัมพาต (ดอก)[1]
- ช่วยรักษาโรคติดอ่างในเด็ก (ดอก)[1]
- ช่วยรักษาต่อมน้ำลายอักเสบ ด้วยการใช้ต้นตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชูแล้วนำมาอม (ต้น[1],[2], ทั้งต้น[2])
- ช่วยแก้อาการสำรอกในเด็ก (ใบ)[1]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ต้น)[1]
- ช่วยแก้บิด (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยแก้ท้องเดิน (ทั้งต้น)[2]
- น้ำต้มรากมีรสเอียนและเบื่อเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่าย (ราก)[1]
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[1],[2]
- รากใช้เป็นยาถ่าย โดยใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยแล้วนำมาดื่ม (ราก)[9] หรือใช้ใบเป็นยาถ่ายสำหรับเด็ก (ใบ)[1]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ต้น)[1]
- ใบใช้เป็นยาผายลมในเด็ก ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก (ราก)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนที่ดีชนิดหนึ่ง ด้วยการคั้นเอาน้ำจากต้นสดและผสมกับน้ำผึ้งใช้รับประทาน หรือจะใช้ต้นสดผสมกับน้ำมะนาวทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้กินหลังอาหารครั้งละ 1 เม็ด (ต้น)[7]
- รากเมื่อนำมาใช่ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ระดูมาไม่ปกติของสตรี (ราก)[6]
- ทั้งต้นนำมาชงดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะได้ (ทั้งต้น, ราก)[1],[2],[4]
- ดอกเมื่อนำไปผสมกับตำรับยาอื่น ๆ จะช่วยแก้องคชาตตาย (ดอก)[6]
- ช่วยแก้พิษตามทวาร (ใบ)[1]
- ช่วยรักษาริดสีดวง (ใบ, ต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยรักษาเริม (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการตกเลือด (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการตับอักเสบ (ทั้งต้น)[8] ด้วยการใช้ผักคราดและเฟิร์นเงินอย่างละ 1 ตำลึง นำมาต้มกินวันละ 2 ครั้ง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ช่วยรักษาผิวหนังเป็นฝีหรือเป็นตุ่มพิษ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำกับเหล้าแล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[5]
- ช่วยแก้ฝีดาษ (ใบ)[1]
- ช่วยแก้ไฟลามทุ่ง ด้วยการใช้ใบและลำต้นนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าโรง ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนกากที่เหลือใช้พอกบริเวณที่เป็นได้ตลอดวัน (ใบ, ต้น)[8]
- ช่วยแก้อาการคัน (ราก, ทั้งต้น)[2],[4]
- ช่วยรักษาแผล ตำพอกแผลและแผลเนื้อเป็น (ใบ)[1],[9] รักษาแผลเรื้อรังหายยากด้วยการใช้ผักคราดหัวแหวน นำมาตำให้แหลก เอาน้ำผสมน้ำมันชันแล้วนำมาใช้ทาหรือพอก (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี เมื่อเกิดบาดแผล ใช้จะขยี้หรือตำต้นสดเพื่อใช้พอกแผลแล้วเลือดจะหยุดไหล (ต้น)[7]
- ช่วยแก้แผลพุพอง (ใบ)[1]
- ตำพอกแก้พิษปวดบวม แผลบวม แก้งูพิษกัด สุนัขกัด ตะมอย (ทั้งต้น)[1],[2]
- ช่วยรักษาไขข้ออักเสบ (ทั้งต้น)[1] ไขข้ออักเสบจากลมขึ้น (Rheumatic fever) (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยลดอาการปวดบวมกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดบวม ฟกช้ำบวม ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำให้แหลก แล้วเหยาะน้ำเปล่าพอชุ่ม ใช้พอกบริเวณที่มีอาการปวด หรือจะใช้ทำเป็นลูกประคบ หรือใส่ในยาอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ก็ได้ (ทั้งต้น)[2],[5],[7]
- ช่วยแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต และอาการเหน็บชา โดยจะใช้ผักคราดหัวแหวนร่วมกับพริกไทยและหัวอุตพิดอย่างละเท่า ๆ กัน ผสมกับน้ำมันพืชแล้วนำมาทา (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยารักษากระดูกหัก กระดูกแตก ด้วยการใช้ผักคราดนำมาตำรวมกับตะไคร้แล้วนำมาพอกกระดูก เปลี่ยนยาทุก ๆ 6 วัน เมื่อครบ 41 วัน กระดูกจะต่อกันติด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผักชนิดนี้มีฤทธิ์ร้อน จึงทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่พอกมากขึ้น อีกทั้งยังมีฤทธิ์แก้อักเสบ จึงอาจช่วยในเรื่องกระดูกหักได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
- ช่วยแก้อาการเจ็บปวดสีข้าง (ทั้งต้น)[1] ด้วยการใช้ผักคราดหัวแหวน 1 ตำลึง ต้มกับหมูเนื้อสันชงกับเหล้ารับประทาน (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)[8]
- ทั้งต้นใช้ต้มดื่มแก้อาการปวดท้องหลังคลอดได้ (ทั้งต้น)[1]
- ผักคราดหัวแหวนยังนิยมนำไปใส่ในยาอบหรือยาอาบหลังคลอดบุตร ด้วยการใช้ร่วมกับใบหนาดใหญ่และใบมะขาม เพื่อช่วยบำรุงเลือดลมของสตรีให้ทำงานอย่างเป็นปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
- จากงานวิจัยพบว่าผักคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านยีสต์ ช่วยยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ เพิ่มฤทธิ์ของฮิสตามีนในการทำให้ลำไส้หดเกร็ง ช่วยลดความดันโลหิต ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน ฆ่ายุงและลูกน้ำยุง ทำให้ชัก มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้อาการปวด ลดความแรงและความถี่ของการบีบตัวของหัวใจห้องบน ช่วยยับยั้งการหดตัวของมดลูกที่เหนี่ยวนำด้วย Oxytocin[5]
ข้อควรรู้ ! : หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทานผักคราดหัวแหวน[8]
ประโยชน์ของผักคราดหัวแหวน
- ใบผักคราดหัวแหวน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับอาหารคาวเพื่อช่วยดับกลิ่นและช่วยเพิ่มรสชาติ[1],[5] ส่วนยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ ก้อย แกง หรือใส่ในแกงแค อ่อมปลา อ่อมกบ หรือนำไปแกงร่วมกับหอยและปลา[3]
- หมอแผนไทยในปัจจุบันจะใช้ผักคราดเพื่อเข้าตำรับยาแก้ปวดบวม บ้างก็ทำเป็นยาหม่อง ทำเป็นน้ำมัน หรือทำเป็นลูกประคบ แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน[5]
- ทั้งต้นและดอกมีสาร Spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาเฉพาะที่ จึงมีการนำมาสกัดใช้ทำเป็นยาชา โดยใช้ต้นนำมาทำเป็นยาฉีดให้มีความเข้มข้น 50% ในการผ่าตัดหน้าท้อง แล้วฉีดยานี้ลงไปทีละชั้น หลังจากนั้น 3-8 นาที ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ และในระหว่างการผ่าตัด อาจฉีดยาลงไปได้อีก เพื่อระงับอาการปวด ซึ่งในการผ่าตัดท้องจะใช้ประมาณ 100-150 มล. ส่วนการผ่าตัดเล็กจะใช้ 60-80 ม.ล. และจากการการผ่าตัดจำนวน 346 ราย พบว่าได้ผลดีถึง 326 ราย และไม่พบว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ง่าย อาจพบว่ามีความดันโลหิตลดลงเพียงเล็กน้อย และแผลหลังการผ่าตัดมักเกิดแผลเป็น (การใช้เป็นยาชา ลำต้นหรือก้านดอกจะมีฤทธิ์แรงกว่าใบ) (ประเทศจีน)[1],[9] ส่วนใบก็มีฤทธิ์เป็นยาชาเช่นกัน[1],[2]
- ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าตัวอ่อนของยุง ใช้ในการเบื่อปลา (ทั้งต้น)[1]
- มีงานวิจัยทางด้านสารธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่าสารสกัดผัดคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้เป็นอย่างดี และช่วยฆ่ายุงได้ดีเช่นกัน[5]
คุณค่าทางโภชนาการของผักคราดหัวแหวน ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 32 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม
- โปรตีน 1.9 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- น้ำ 89 กรัม
- วิตามินเอ 3,917 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 20 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 162 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 41 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [5 พ.ย. 2013].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [5 พ.ย. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [5 พ.ย. 2013].
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน (3) (นันทวัน บุณยะประภัศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [5 พ.ย. 2013].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). “ยาชา ยาแก้อักเสบจากผักคราดหัวแหวน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [5 พ.ย. 2013].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [5 พ.ย. 2013].
- ฟาร์มเกษตร. “สมุนไพรผักคราดหัวแหวน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.farmkaset.org. [5 พ.ย. 2013].
- สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่). อ้างอิงใน: สารศิลปยาไทย ฉบับที่ 36. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oocities.org/thaimedicinecm. [5 พ.ย. 2013].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 15 คอลัมน์: อื่น ๆ. “มะขามและผักคราดหัวแหวน”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [31 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by maren.wischnewski, Scamperdale, Vilseskogen, Tony Rodd, Starr Environmental, hardworkinghippy, b.inxee)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)