ผักกาดโคก
ผักกาดโคก ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumeopsis flava (DC.) Gagnep. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Laggera falcata (D.Don) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]
สมุนไพรผักกาดโคก มีชื่อท้องถิ่นอื่นว่า เหงือกปลาหมอป่า (สุโขทัย) ส่วนที่จังหวัดเรียก “ผักกาดโคก” เป็นต้น[1]
ลักษณะของผักกาดโคก
- ต้นผักกาดโคก จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 20-50 เซนติเมตร และอาจสูงได้ถึง 100 เซนติเมตร[1],[2]
- ใบผักกาดโคก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกผักกาดโคก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองสด ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีวงประดับซ้อนเหลื่อมกัน รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ไม่มีขน ดอกเพศเมียจะอยู่ด้านนอก ลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ที่กลางช่อดอก มีลักษณะเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็น 4-5 แฉก แพพพัส เป็นสีขาว ขนาดยาวประมาณ 2.5-5.0 มิลลิเมตร[1],[2]
- ผลผักกาดโคก ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีขนาดเล็กสีน้ำตาล[1]
สรรพคุณของผักกาดโคก
- รากนำมาขูดให้เป็นผง ใช้อุดฟันที่เป็นรูหรือฟันผุ จะช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ราก)[1],[2]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ผักกาดโคกทั้งต้นผสมกับหญ้าหนวดแมวทั้งต้น ลำต้นเชือกเขาหนัง ลำต้นมะคังแดง ลำต้นมะดูก และลำต้นหรือใบมะต่อมไก่ นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้อัมพาต (ทั้งต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักกาดโคก”. หน้า 49.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักกาดโคก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [23 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th, pharmacy.mahidol.ac.th/siri/
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)