ผักกาดส้ม สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดส้ม 7 ข้อ !

ผักกาดส้ม สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดส้ม 7 ข้อ !

ผักกาดส้ม

ผักกาดส้ม ชื่อสามัญ Curly Dock, Yellow dock[2]

ผักกาดส้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Rumex crispus L. จัดอยู่ในวงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)[1]

สมุนไพรผักกาดส้ม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เก่อบะซิ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชั่วโล่งจั๊วะ (ม้ง-เชียงใหม่), พะปลอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ส่วนคนแม่ฮ่องสอนเรียก “ผักกาดส้ม[2]

ลักษณะของผักกาดส้ม

  • ต้นผักกาดส้ม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี ลำต้นสูงได้ประมาณ 50-120 เซนติเมตร และอาจสูงได้ถึง 150 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมแดง ค่อนข้างกลม ผิวลำต้นเกลี้ยง มีรากแก้วคล้ายหัวผักกาดยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร หากทิ้งไว้ให้มีอายุมากอาจมีความยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาได้[1],[2]

ต้นผักกาดส้ม

  • ใบผักกาดส้ม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเวียนรอบต้นหรือกิ่งแผ่เป็นวงรัศมี ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบมนเล็กน้อยหรือแหลม โคนใบสอบแคบ โค้งมนรูปตัด หรือเว้าตื้น ส่วนขอบใบเป็นลอนคลื่นหรือย่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร (ยาวกว่าความกว้างประมาณ 4-5 เท่า) ผิวใบเกลี้ยง เส้นใบค่อนข้างเลือนรางมองเห็นไม่ชัดเจน ใบที่อยู่ด้านบนจะไม่มีก้านใบ ส่วนใบที่อยู่ด้านล่างจะมีก้านใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร หูใบแผ่แบนมีลักษณะคล้ายปลอกหุ้มลำต้น[1],[2]

ใบผักกาดส้ม

  • ดอกผักกาดส้ม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งขึ้นที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง บางครั้งแยกแขนงออกเป็น 2-3 แขนง ดอกย่อยมีจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศอยู่เป็นกระจุกรอบแกนดอกชิดติดกันแน่นตามแกนช่อดอก ลักษณะคล้ายกระบองหรือทรงกระบอก กลุ่มดอกที่ออกจากซอกใบล่างลงมามักเป็นกระจุกเล็ก ๆ มีรูปทรงกลม ดอกย่อยเป็นสีเขียวมีขนาดเล็ก วงกลีบรวม 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบวงในขยายใหญ่และหุ้มผลเมื่อตกผล ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน เรียงตัวเป็น 2 วง วงละ 3 อัน อับเรณูติดที่ฐาน รังไข่นูนเหนือฐานวงกลีบรวม ภายในมี 3 ช่อง มีก้านเกสรสั้น 3 อัน ปลายก้านมีลักษณะคล้ายแปรงหรือชายครุย[1],[2]

ดอกผักกาดส้ม

  • ผลผักกาดส้ม ผลเป็นผลแห้งไม่แตก เมล็ดเดี่ยว มีขนาดยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ ด้านข้างเป็นสันนูนคล้ายปีก 3 สัน มีกาบของกลีบหุ้มเป็นสันคล้ายปีก 3 สัน[1],[2]

รูปผักกาดส้ม

ผลผักกาดส้ม

เมล็ดผักกาดส้ม

สรรพคุณของผักกาดส้ม

  • ชาวม้งจะใช้ยอดอ่อนนำมาอมหรือต้มกับไข่กินเป็นยาแก้ปวดฟัน (ใบ)[2]
  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากผักกาดส้ม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก)[1],[2]
  • รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หนองใน (ราก)[1],[2]
  • รากนำมาทุบห่อผ้า ทำเป็นลูกประคบฝี หากฝีแตกแล้ว ให้ใช้รากฝนกับน้ำทาบริเวณที่เป็น (ราก)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดส้ม

  • ทั้งต้นมีกรดออกซาลิก ซึ่งเป็นพิษต่อตับและไตของคน ทำให้เสียชีวิตได้[1]
  • รากมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนู[1]
  • แก่นมีสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ในสัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของผักกาดส้ม

  • ใบนำมาแทนมะนาวใช้ใส่แกงเพื่อให้มีรสเปรี้ยว[2]
  • ชาวเขาเผ่าจีนฮ่อ ม้ง เย้า ปะหล่อง และเผ่าอื่น ๆ จะใช้ลำต้นและใบผักกาดส้มที่มีรสเปรี้ยว นำมาทำเป็นผักดองเค็ม ใช้กินเป็นกับแกล้มหรือกินกับข้าว[2]
  • ในบางท้องถิ่นจะใช้รากของผักกาดส้มเป็นสีย้อมผ้าและหนัง[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักกาดส้ม”.  หน้า 188.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ผักกาดส้ม”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [22 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Daniela Di Bartolo, Catcher In My Eye, naturgucker.de, Harry Rose, SierraSunrise)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด